คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7164/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาขอให้รอการลงโทษ แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยไม่เหมาะสม ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๓๕, ๓๓๖ ทวิ กับให้จำเลยคืนหรือ ใช้ราคาน้ำมันพืชขนาดบรรจุถุงละ ๑๕ กิโลกรัม จำนวน ๖๖ ถุง เป็นเงินจำนวน ๑๙,๘๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๓๕ (๑) (๓) (๘) วรรคสอง, ๓๓๖ ทวิ ลงโทษจำคุก ๓ ปี คำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตลอดจนทางนำสืบของจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๒ ปี ให้จำเลยคืนหรือ ใช้ราคาทรัพย์เป็นเงินจำนวน ๑๙,๘๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า…พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่ตามฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยเกิดวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๓ นับถึงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ จำเลยอายุเพียง ๑๖ ปีเศษ ยังไม่เกิน ๑๗ ปี ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๕ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน และจำเลยกระทำความผิดขณะที่มีอายุน้อย การลงโทษจำคุกจำเลยไปทีเดียวไม่น่าจะเป็นผลดีในการแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยสักครั้งเพื่อให้จำเลยได้แก้ไข ฟื้นฟูตนเองในสังคมภายนอก การรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยน่าจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมกว่า แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาขอให้รอการลงโทษ แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ลงโทษจำเลยไม่เหมาะสมก็ย่อมมีอำนาจ ลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๘๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๑๕ และ ๒๒๕ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เพื่อให้จำเลย หลาบจำเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๕ จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน และปรับ ๖,๐๐๐ บาท คำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตลอดจนทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี และปรับ ๔,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๓ เดือนต่อครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ภายในเวลาที่รอการลงโทษ และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือ สาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา ๓๐ ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ กรณีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙

Share