คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7160/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 114(เดิม)ส่วนผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 รับโอนที่ดินมาจากผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4โดยมิได้รับโอนหรือกระทำการใด ๆ กับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแต่ประการใดผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 จึงเป็นบุคคลภายนอกตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 116(เดิม) ซึ่งจะยกประโยชน์ตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นปฏิเสธว่าตนได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนได้ก็ต่อเมื่อเป็นการรับโอนที่ดินพิพาทก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย แต่คดีนี้ผู้คัดค้านที่ 7ถึงที่ 9 ได้รับโอนที่ดินพิพาทหลังจากจำเลยถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลย (ลูกหนี้) ล้มละลายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2528 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2528 และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2529

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยเคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 79832 ถึง 79841, 79848 ถึง 79863, 79868 ถึง 79878, 29889และ 2894 ตำบลสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานครรวม 39 โฉนด ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 จำเลยทำนิติกรรมโอนขายที่ดินทั้ง 39 โฉนด โดยโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 79832ถึง 79839 รวม 8 โฉนด ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ในราคา 2,805,000 บาทที่ดินโฉนดเลขที่ 79840, 79841, 79848 รวม 3 โฉนด ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2ในราคา 1,087,500 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 79849 ถึง 79856 รวม 8 โฉนดให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ในราคา 2,335,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 79857 ถึง79858, 79868 ถึง 79874 รวม 9 โฉนด ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 ในราคา2,335,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 79859 ถึง 79863, 79875 ถึง 79878 รวม 9 โฉนด ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4 ในราคา 2,682,500 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 29889 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ในราคา 1,216,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 2894 เฉพาะส่วนของจำเลยที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกับนางผ่องตำราเรียนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ในราคา 675,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับโอนแล้วนำไปจำนองบ้าง โอนขายบ้าง ดังนี้ (1) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2532 ผู้คัดค้านที่ 1 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่79832 ถึง 79839 รวม 8 โฉนด แก่ผู้คัดค้านที่ 6 วงเงิน 7,000,000,000บาท (2) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 ผู้คัดค้านที่ 3 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 79849 ถึง 79856 รวม 8 โฉนด ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 ในราคา 2,802,000 บาท (3) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 ผู้คัดค้านที่ 4โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 79859, 79875, 79876 รวม 3 โฉนด ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 ในราคา 1,206,000 บาท (4) เมื่อวันที่ 19 เมษายน2531 ผู้คัดค้านที่ 4 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 79860 ถึง 79863 รวม4 โฉนด ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 ในราคา 1,221,000 บาท (5) เมื่อวันที่ 4กุมภาพันธ์ 2529 ผู้คัดค้านที่ 4 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 79877 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 10 ในราคา 335,000 บาท (6) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2529ผู้คัดค้านที่ 4 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 79878 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 11 และที่ 12 ในราคา 130,000 บาท (7) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 ผู้คัดค้านที่ 3และที่ 4 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 29889 และ 2894 เฉพาะส่วนของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 ในราคา 456,000บาท และ 1,560,000 บาท ตามลำดับ (8) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2532ผู้คัดค้านที่ 1 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 29889 เฉพาะส่วนของผู้คัดค้านที่ 1โดยไม่เพิ่มวงเงินแก่ผู้คัดค้านที่ 6 การที่จำเลยโอนขายที่ดินทั้ง 39 โฉนดแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นการโอนทรัพย์สินในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนจำเลยจะถูกฟ้องล้มละลาย โดยผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ทราบดีว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีการชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลย เป็นการสมยอมกันเพื่อปิดบังมิให้เจ้าหนี้รายอื่นของจำเลยได้รับชำระหนี้ จึงเป็นการรับโอนไว้โดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ผู้ร้องจึงชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการโอนเสียได้ส่วนการจำนองและการโอนที่ดินระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 12 ซึ่งเป็นผู้รับโอนช่วงเป็นการโอนภายหลังจำเลยถูกฟ้องล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวและพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116 ผู้ร้องจึงมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการจำนองและการโอนดังกล่าวได้ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 79832 ถึง 79841, 79848 ถึง 79863, 79868 ถึง 79878,29889 และ 2894 รวม 39 โฉนด ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5และการจำนองระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 6 และการโอนที่ดินระหว่างผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 12 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 และ 116 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมหากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนผู้คัดค้าน ในกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านที่ 1ถึงที่ 12 ร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 62,860,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 12 ยื่นคำคัดค้านมีใจความรวมกันว่าผู้คัดค้านที่ 1ถึงที่ 5 ต่างรับโอนที่ดินจากจำเลยโดยสุจริต มิได้ล่วงรู้ถึงภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลย เนื่องจากขณะโอนทรัพย์สินจำเลยเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ฐานะทางการเงินมั่นคง ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว อีกทั้งจำเลยไม่เคยแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ทราบเกี่ยวกับภาระหนี้สิน ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ชำระค่าตอบแทนเป็นเงินให้แก่จำเลยตามราคาที่ซื้อขายกันและจดทะเบียนซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วผู้ร้องไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนการโอน สำหรับสิทธิที่จะเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่ดินแทนการโอนกลับคืนสู่ฐานะเดิม ไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ร้องทำได้เพียงแต่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนเท่านั้น หากมีสิทธิผู้ร้องก็ได้แต่จะเรียกร้องให้ชดใช้เฉพาะส่วนของผู้รับโอนแต่ละราย ไม่มีสิทธิร้องขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 12 ร่วมกันชดใช้ราคารวม 39 โฉนด เป็นเงิน 62,860,000 บาท เพราะนิติกรรมการโอนเป็นกรณีที่ต่างแยกกันทำโดยลำพัง หาได้ร่วมกันกระทำหรือมีส่วนผูกพันเกี่ยวข้องเป็นลูกหนี้ร่วมไม่และต่างรายต่างมีความรับผิดตามมูลหนี้ต้นเงินซึ่งแบ่งแยกจากกันได้ราคาที่ดินที่เรียกร้องเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตามความเป็นจริงมากหากศาลจะมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ดิน ความรับผิดก็มีไม่เกินตารางวาละ 2,500 บาท ผู้ร้องมิได้ร้องขอให้เพิกถอนการโอนและการจำนองภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องสอบสวนเสร็จและได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ซึ่งเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง คำร้องของผู้ร้องจึงขาดอายุความแล้ว ผู้คัดค้านที่ 6 รับจำนองโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ผู้ร้องไม่อาจขอเพิกถอนการจำนองได้ สำหรับผู้คัดค้านที่เป็นผู้รับโอนช่วงทุกรายต่างรับซื้อที่ดินจากผู้คัดค้านที่เป็นผู้รับโอนตามที่นายหน้ามาเสนอขาย ไม่เคยรู้จักจำเลยและผู้รับโอนมาก่อน โดยเห็นว่าเป็นราคาพอควรและเหมาะสมกับราคาตลาดในขณะนั้นจึงตกลงซื้อและชำระค่าตอบแทน แล้วมีการซื้อขายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการรับโอนโดยสุจริต มีค่าตอบแทนจึงเป็นบุคคลภายนอกได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 116 ผู้ร้องไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนการโอนคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 79832 ถึง79839 ตำบลสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 และการจดทะเบียนจำนองระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 6 ให้กลับสู่ฐานะเดิม หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนา ในกรณีไม่สามารถกลับสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชดใช้ราคาเป็นเงิน 9,130,500 บาทให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 79840, 79841 และ 79848 ตำบลสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 2 และการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 79857,79858, 79868 ถึง 79874 ตำบลสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ)อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 5 ให้กลับสู่ฐานะเดิม หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนา ในกรณีไม่สามารถกลับสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 5ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 14,224,000 บาท ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 79849 ถึง 79856 ตำบลสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ)อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 3 และการโอนที่ดินเลขที่ 79859 ถึง 79863, 79875 ถึง 79878 ตำบลสวนหลวง(ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 4 การโอนช่วงที่ดินในส่วนนี้โฉนดเลขที่ 79849 ถึง 79856ระหว่างผู้คัดค้านที่ 3 กับผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 โฉนดเลขที่ 79859, 79875และ 79876 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 โฉนดเลขที่ 79860ถึง 79863 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 9 โฉนดเลขที่ 79877ระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 10 โฉนดเลขที่ 79878 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 11 และที่ 12 ให้กลับสู่ฐานะเดิม หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนา ในกรณีไม่สามารถกลับสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 10,487,000บาท ให้ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 และที่ 9 ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 3,052,500บาท ให้ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 และที่ 10 ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 1,005,000บาท ให้ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 ที่ 11 และที่ 12 ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน975,000 บาท และให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 29889 และ 2894(เฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของจำเลย) ตำบลสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ)อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 5ที่ 3 และที่ 4 รวมทั้งการโอนช่วงทั้งสองโฉนดเฉพาะส่วนระหว่างผู้คัดค้านที่ 3และที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 กับการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 29889 เฉพาะส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 6 ให้กลับสู่ฐานะเดิม หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนา ในกรณีไม่สามารถกลับสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันชดใช้ราคาโดยผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 5 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเงิน8,610,000 บาท ในส่วนนี้ผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันชดใช้ 3,444,000บาท เงินที่กำหนดให้ใช้ทุกจำนวน ผู้ชดใช้ต้องร่วมกันชำระพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันมีคำสั่งนี้ (วันที่ 22 กันยายน 2541)ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง

ผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่ผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 เสียมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์คงเรียกไว้แต่อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์

ผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 มีว่าผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริต และมีค่าตอบแทน จึงได้รับความคุ้มครอง เพราะผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 ไม่ใช่บุคคลภายนอกตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือไม่ โดยผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 ฎีกาว่า คำว่าบุคคลภายนอก หมายถึงผู้รับโอนทรัพย์สินจากจำเลยโดยตรงทุกคนแต่ผู้รับโอนทรัพย์สินต่อจากผู้รับโอนรายแรกหรือผู้รับโอนช่วง ไม่ใช่บุคคลภายนอก แม้ผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 จะรับโอนที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 3และที่ 4 หลังจากจำเลยถูกฟ้องล้มละลายแล้ว แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9ไม่ใช่บุคคลภายนอก ผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 จึงไม่ถูกตัดสิทธิมิให้พิสูจน์ถึงการรับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 ส่วนผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 รับโอนที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 โดยที่ผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 มิได้รับโอนหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทกับจำเลยแต่ประการใด ผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 จึงเป็นบุคคลภายนอกตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 116 ผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 จะยกประโยชน์ตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นปฏิเสธว่าตนได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย คือก่อนวันที่ 17 ตุลาคม 2528 แต่คดีนี้ผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9ได้รับโอนที่ดินพิพาทหลังจากจำเลยถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าวและคำว่าบุคคลภายนอกตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 116 มิได้มีความหมายดังที่ผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 ฎีกา กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share