คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามปกติโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี แต่หลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์จึงปรับอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยที่ 1 ให้สูงขึ้นเป็นประเภทที่ผิดนัดชำระหนี้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยกรณีผิดนัดไม่ชำระหนี้ ถือได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มจากเดิมมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่คู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ.มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่งให้อำนาจไว้ โดยไม่จำต้องมีฝ่ายใดอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 43,350,862.66 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 26,429,352.07 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์จำนวน 15,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับจากวันที่ 11 เมษายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้นำทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดอยู่จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดภายในวงเงิน 15,000,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ดังกล่าวก็ให้บังคับจำนองเอาที่ดินโฉนดเลขที่ 45378, 45379, 44669 และ 44670 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวงเงิน 28,920,000 บาท หากได้เงินไม่พอแก่หนี้ก็ให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 จนครบ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้20,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ประกอบกิจการธนาคาร ส่วนจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์สาขาคลองสานและได้ขอสินเชื่อประเภทต่าง ๆ จากโจทก์ เมื่อระหว่างปี 2533 ถึง 2537จำเลยที่ 1 ได้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์สาขาคลองสานเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับรองการจ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวต่อโจทก์ไว้ในตั๋วแลกเงินรวม 10 ฉบับ รวมทั้งจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทตกลงชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและตั๋วแลกเงินดังกล่าวไว้แก่โจทก์ และเพื่อเป็นหลักประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามฟ้องไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 28,920,000 บาทส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 15,000,000 บาท หลังจากครบกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ในตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับแล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปถึงจำเลยทั้งสามจำเลยที่ 1 จึงได้นำเงินไปชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วน และโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยคิดคำนวณถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2541 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 43,350,862.66 บาท และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งในชั้นนี้จำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเกี่ยวกับต้นเงิน คงโต้แย้งคัดค้านเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยจำนวน 16,858,510.59 บาทเท่านั้น เมื่อนำค่า ดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากหนี้จำนวน 43,350,862.66 บาท แล้ว จึงฟังเป็นที่ยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้แก่โจทก์เป็นต้นเงินจำนวน 26,492,352.07 บาท
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2540 นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ต้นเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและตั๋วแลกเงินแก่โจทก์จริง ดังนั้น โจทก์จึงอาจปรับอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยที่ 1 ให้สูงขึ้นตามประกาศของโจทก์ประเภทลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้ ดังจะเห็นได้ว่า ตามเครดิตสลิปซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ยอมเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราระหว่างร้อยละ 15.5 ถึง 18 ต่อปี ตามที่โจทก์เรียกเก็บตลอดมา ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการเสียดอกเบี้ยในอัตราที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันไว้ตามที่พยานโจทก์เบิกความ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ประเภทผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย เอ็ม แอล อาร์ และ เอ็ม โอ อาร์ ดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ได้ แต่อย่างไรก็ตามศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่าการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามปกติในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ตามใบแจ้งเรียกเก็บเงิน แต่หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงปรับอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยที่ 1 ให้สูงขึ้นเป็นประเภทที่ผิดนัดชำระหนี้ ตามประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น ดังที่ปรากฏในตารางแสดงอัตราดอกเบี้ยประกอบการ์ดบัญชีแสดงยอดหนี้ตามพฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยกรณีผิดนัดไม่ชำระหนี้ ถือได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยเดิม มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจไว้โดยไม่จำต้องมีฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจและภาวะตลาดการเงินในปัจจุบันรวมทั้งค่าดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระแก่โจทก์ไปตามเครดิตสลิปแล้ว เห็นสมควรกำหนดเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์เท่ากับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยเดิมอีกร้อยละ 6.5 ต่อปี เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเดิมอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ก่อนผิดนัด จึงรวมเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 อุทธรณ์มาเพียงว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2540 ไม่ถูกต้อง โดยจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราสูงกว่าร้อยละ 9 ต่อปีก่อนวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ไม่ถูกต้องด้วยจึงชอบที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะต้องพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปเท่านั้น และเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องในต้นเงินจำนวน 26,429,352.07 บาท ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วย ส่วนดอกเบี้ยก่อนฟ้องระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2541 โจทก์มิได้ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุที่จะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2540 ตามการ์ดบัญชีแสดงยอดหนี้ เมื่อคิดคำนวณแล้วคงเป็นเงินค่าดอกเบี้ยทั้งสิ้น 14,013,667.47 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่โจทก์นำสืบ
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ชำระต้นเงินจำนวน 26,492,352.07 บาท กับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดคิดคำนวณถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2540 รวมเป็นเงิน 14,013,667.47 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 26,492,352.07 บาท ดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2540 ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2541 หลังจากนั้นจึงให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวต่อไปในต้นเงินจำนวน 26,429,352.07 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ .

Share