คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์ผู้ได้รับความเสียหายจากการที่คนขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ชนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์เสียหายกับจำเลยที่ 1 จะได้ทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องค่าสินไหมทดแทนต่อกันอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1ผู้เอาประกันภัยที่มีต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงไปเป็นความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็หาทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ก่อนแล้วตามกรมธรรม์ประกันภัยต้องเปลี่ยนแปลงหรือต้องระงับไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงของจำเลยที่ 1 ซึ่งเอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยขับออกทางขวาเพื่อแซงรถยนต์คันอื่น จึงพุ่งชนรถยนต์ของโจทก์ด้านซ้ายโดยแรงทำให้รถยนต์ของโจทก์เสียหาย และโจทก์ได้รับอันตรายสาหัสขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 120,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องและให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 300 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จใช้งานได้คืนแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว มูลหนี้ละเมิดจึงระงับไปโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องค่าเสียหายไม่ถึงจำนวนที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าซ่อมรถยนต์แก่โจทก์จำนวน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์วันละ 150 บาท นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2535เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะซ่อมรถยนต์ของโจทก์แล้วเสร็จจนใช้งานได้และส่งมอบคืนแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์วันละ 150 บาทนับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2535 จนกว่าจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จจนใช้งานได้คืนให้แก่โจทก์และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า การที่โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงยอมรับค่าเสียหายและยอมให้จำเลยที่ 1 จัดการซ่อมรถยนต์ให้ ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2ผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นรถยนต์ของฝ่ายประมาทเลินเล่อที่ทำให้โจทก์และรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายระงับไปหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 จะได้ทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องค่าสินไหมทดแทนต่อกันแล้วตามสำเนาบันทึกการตกลงค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลเอกสารหมาย จ.7 และบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามความหมายในมาตรา 850แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของและผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงคันเกิดเหตุไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ เพราะเหตุแห่งการที่รถยนต์บรรทุกและรถพ่วงของจำเลยที่ 1 ที่เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 ชนรถยนต์ของโจทก์ แม้จะทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยที่มีต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงไปเป็นความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็หาทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ก่อนแล้วตามกรมธรรม์ประกันภัยต้องเปลี่ยนแปลงหรือต้องระงับไปด้วยไม่จำเลยที่ 2 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ เทียบเคียงได้กับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2532 ระหว่างนายวิชัย แซ่เฮ้งหรือแซ่เฮง โจทก์บริษัทประกันสรรพภัยแห่งประเทศไทย จำกัดจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 เสียนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share