แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์แต่เป็นเรื่องโจทก์นำเงินมาร่วมลงทุนแต่การค้าขาดทุนจึงขอคืน และให้จำเลยทำสัญญากู้ให้โจทก์ ต่อมาจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์แล้วโดยโอนสิทธิการเช่าห้องเช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้โจทก์ใช้หนี้แทน และมีข้อตกลงว่า หากขายได้ราคาเกินกว่าจำนวนเงินที่โจทก์นำมาลงทุน โจทก์ต้องนำเงินส่วนที่เกินคืนจำเลย โจทก์ขายได้แต่ไม่ยอมคืนเงินส่วนที่เหลือจึงขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือคืนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่อพยานหลักฐานจำเลยฟังไม่ได้ว่า จำเลยโอนสิทธิการเช่าห้องเช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็น หาได้มีความเกี่ยวพันกับมูลหนี้เดิมตามฟ้องแต่ประการใดไม่ หากเป็นความจริงตามที่จำเลยว่าก็ชอบที่จำเลยจะนำคดีไปฟ้องเป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหาก มิใช่มากล่าวอ้างแล้วตั้งเป็นข้อเรียกร้องรวมในคดีนี้ จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ปัญหาฟ้องแย้งเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2541 จำเลยทำสัญญากู้เงิน 100,000 บาท จากโจทก์ กำหนดชำระคืนภายในสามเดือนนับแต่วันทำสัญญาครั้นครบกำหนดจำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2542 และ 26 พฤษภาคม 2542 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 100,000 บาท กำหนดชำระคืนภายในสามเดือนนับแต่วันทำสัญญาแต่ละฉบับ ครั้นครบกำหนดจำเลยไม่ชำระเงินต้นแก่โจทก์ หลังจากวันที่ 26 พฤษภาคม 2542 โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินที่กู้ไปทั้งสามครั้งแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์เสียหายขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละฉบับนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง เป็นดอกเบี้ยรวม 14,857 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 314,857 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินจากโจทก์ตามฟ้องแต่เป็นเรื่องที่โจทก์นำเงินจำนวน 100,000 บาท มาร่วมลงทุนประกอบการค้าขายบริเวณย่านพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร แต่การค้าขาดทุน โจทก์ขอเงินที่ร่วมลงทุนคืนและข่มขู่จำเลยว่าหากไม่คืนเงินหรือทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ โจทก์จะร้องเรียนต้นสังกัดที่จำเลยรับราชการอยู่ จำเลยเกรงว่าจะกระทบต่อหน้าที่การงานจึงยอมทำสัญญากู้เงินฉบับวันที่ 26 กันยายน 2541 ให้โจทก์ สำหรับสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 26 มีนาคม 2542 และ 26 พฤษภาคม 2542 เป็นสัญญาที่โจทก์บังคับข่มขู่ให้จำเลยทำขึ้นใหม่เพื่อเปลี่ยนใช้แทนสัญญาเงินกู้ฉบับแรก ตามสัญญากู้เงินฉบับแรกกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยอย่างไรก็ตาม จำเลยได้ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์นำมาลงทุนคืนโจทก์เรียบร้อยแล้ว โดยจำเลยยอมโอนสิทธิการเช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทยในห้องเช่าหมายเลขชั่วคราวเลขที่ เอส 26 ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์เพื่อนำไปขายให้บุคคลอื่นนำเงินชำระคืนโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์นำไปขายได้ราคาเกินกว่าจำนวนเงินที่โจทก์นำมาลงทุน โจทก์ต้องนำเงินส่วนที่เกินคืนจำเลย โจทก์สามารถนำสิทธิการเช่าห้องเช่าดังกล่าวไปขายได้เงิน 370,000 บาท เมื่อหักส่วนของโจทก์แล้ว โจทก์จะต้องคืนเงินที่เหลือ 270,000 บาท แก่จำเลย แต่โจทก์ไม่คืนให้แก่จำเลย ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงิน 270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยโอนสิทธิการเช่าห้องชั่วคราวหมายเลข เอส 26 ของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินร่วมลงทุนจำนวน 400,000 บาท ที่โจทก์ร่วมลงทุนกับจำเลย หลังจากลงทุนไปแล้วโจทก์ติดตามทวงถามเงินปันผลกำไรจากจำเลย แต่จำเลยบ่ายเบี่ยง และในที่สุดจำเลยตกลงประนีประนอมกับโจทก์ โดยโอนสิทธิการเช่าห้องเช่าดังกล่าวเพื่อตีใช้หนี้คืนเงินที่ลงทุนแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีหน้าที่คืนเงินแก่จำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 และให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 270,000 บาท แก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 27 มีนาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความต่างให้เป็นพับแก่กัน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในชั้นฎีกาว่า จำเลยกู้ยืมเงิน 100,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 26 มีนาคม 2541 ตามหนังสือสัญญากู้เงิน เอกสารหมาย จ.1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ตามฟ้องหรือไม่ ในประเด็นนี้โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า หลังจากจำเลยกู้เงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 แล้ว วันที่ 26 มีนาคม 2542 จำเลยทำสัญญากู้เงินอีก 100,000 บาท จากโจทก์ ตกลงชำระคืนภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2542 จำเลยทำสัญญากู้เงินอีก 100,000 บาท จากโจทก์ ตกลงชำระคืนภายในวันที่ 26 สิงหาคม 2542 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ ส่วนจำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้เงินเพียง 100,000 บาท จากโจทก์ ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 โดยมอบเช็คเอกสารหมาย ล.4 ไว้เป็นประกัน ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระตามสัญญากู้ดังกล่าว โจทก์ได้ให้จำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 มอบให้โจทก์แทนโดยใช้เช็คฉบับเดิมเป็นประกัน ครั้นวันที่ 26 พฤษภาคม 2542 ก่อนครบกำหนดชำระตามสัญญากู้เงินฉบับที่สอง โจทก์ให้จำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 มอบให้แก่โจทก์แทนสัญญากู้ฉบับที่ 2 โดยใช้เช็คฉบับเดิมเป็นประกัน แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่ได้ชำระหนี้คืน จำเลยเคยขอหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 คืน แต่โจทก์อ้างว่าอยู่ที่พี่สาวโจทก์และผัดผ่อนไม่คืนแก่จำเลย เห็นว่า จำนวนเงินที่สั่งจ่ายตามเช็คเอกสารหมาย ล.4 มีจำนวนเพียง 111,250 บาท ซึ่งต่ำกว่าเงินต้นและดอกเบี้ยในสัญญากู้แต่ละสัญญาหากสัญญากู้ฉบับแรกยังไม่มีการชำระหนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะยอมให้จำเลยกู้เงินอีกโดยยอมให้ใช้เช็คฉบับเดิมเป็นหลักประกัน ทั้งเมื่อพิจารณาวันที่ทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 ตรงกับวันครบกำหนดชำระตามหนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 และวันที่ทำสัญญากู้ฉบับที่ 3 หนี้เงินกู้เดิมตามหนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ยังไม่มีการชำระหนี้ ทั้งเช็คเอกสารหมาย ล.4 มีการลงวันที่สั่งจ่ายครั้งแรกวันที่ 31 ธันวาคม 2541 และมีการขีดฆ่าและแก้ไขวันที่สั่งจ่ายจากวันที่ดังกล่าวเป็นวันที่ 26 พฤษภาคม 2542 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีการนำเช็คไปเรียกเก็บแล้ว แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลว่าบัญชีปิดแล้วจึงเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะยอมให้กู้เงินรายใหม่โดยรับเช็คฉบับเดิมไว้เป็นประกันอีก ประกอบกับโจทก์มีนางราตรี มาเบิกความเป็นพยานยืนยันสนับสนุนเพียงปากเดียวว่า มีการส่งมอบเงินกู้จำนวน 100,000 บาท ในวันทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 เท่านั้น ส่วนการกู้เงินตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 คงมีตัวโจทก์เบิกความกล่าวอ้างลอยๆ เพียงปากเดียวว่ามีการส่งมอบเงินกู้ให้แก่จำเลย พยานหลักฐานจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ รับฟังได้ว่าจำเลยกู้เงินโจทก์เพียง 100,000 บาท ไม่ใช่ 300,000 บาท ตามที่โจทก์ฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษา มีปัญหาว่า มีการชำระเงินกู้จำนวนนี้โดยจำเลยโอนสิทธิการเช่าห้องของการรถไฟแห่งประเทศไทย ห้องเลขที่ เอส 26 ตามที่จำเลยอ้างหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า มีการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวในวันที่ 1 สิงหาคม 2542 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่ 26 สิงหาคม 2542 ที่ครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เวนคืนเอกสาร ขีดฆ่าเอกสาร หรือจดแจ้งความข้อระงับหนี้ไว้ในเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 และจำเลยไม่มีหลักฐานใบเสร็จการชำระหนี้มาแสดงยืนยันว่ามีการชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งโจทก์นำสืบต่อสู้ว่าเป็นการโอนตีใช้หนี้เงินกู้รายอื่น และตามหนังสือร้องเรียนเอกสารหมาย ล.6 ที่โจทก์รับว่าเป็นผู้ทำขึ้นเพื่อร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยก็ระบุยอดหนี้เงินยืมที่จำเลยค้างชำระไว้ 270,000 บาท จึงเป็นคนละจำนวนกัน พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนนี้จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยโอนสิทธิการเช่าห้องเช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย ห้องเลขที่ เอส 26 เพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ตามที่โจทก์ฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นหาได้มีความเกี่ยวพันกับมูลหนี้เดิมตามฟ้องแต่ประการใดไม่ หากเป็นความจริงตามที่จำเลยว่าก็ชอบที่จำเลยจะนำคดีไปฟ้องเป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหาก มิใช่มากล่าวอ้างแล้วตั้งเป็นข้อเรียกร้องรวมมาในคดีนี้ จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ปัญหาฟ้องแย้งเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกฟ้องแย้งของจำเลย ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดดอกเบี้ยในเงินกู้ 100,000 บาท ที่ค้างชำระแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 จ.2 และ จ.3 ข้อ 2 ระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้กับผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 19.5, 19.5 และ 16.5 ต่อปี ตามลำดับซึ่งเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ ผลเท่ากับไม่มีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยแต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี และตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 กำหนดให้ผู้กู้ยอมชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ภายใน 3 เดือน นับแต่วันทำสัญญาคือ วันที่ 26 สิงหาคม 2542 ซึ่งเป็นการกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้มิได้ชำระหนี้แก่โจทก์ตามกำหนดจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในยอดเงินค้างชำระ 100,000 บาท นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 มกราคม 2543 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไป และโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งในประเด็นนี้ ประเด็นนี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งตามฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1