แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์โจทก์จะขอไถ่ที่ดินพิพาทคืนในราคา4,400บาทก็ตามแต่ความประสงค์หลักตามฟ้องของโจทก์ก็คือขอไถ่ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่1เนื่องมาจากล. มอบที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่1ทำกินต่างดอกเบี้ยดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าล. เป็นหนี้จำเลยที่1จำนวน99,900บาทโจทก์ก็ต้องไถ่ที่ดินพิพาทคืนในราคา99,900บาทและศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้ไถ่คืนตามจำนวนเงินที่เป็นหนี้กันจริงได้โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายล้วนหรือล้วนยอดเล็ก นางล้วนมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 8 ตำบลกังแอนอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี 2513 นางล้วนกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 4,400 บาท โดยมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1ทำนาแทนดอกเบี้ย ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ เพียงแต่ตกลงกันว่าเมื่อนางล้วนมีเงินไปไถ่ถอนเมื่อใด จำเลยที่ 1 ก็จะส่งมอบที่ดินพิพาทคืน ระหว่างที่นางล้วนมีชีวิตอยู่ ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 2 ไว้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาสุรินทร์ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ไถ่ถอนที่ดินพิพาทจากธนาคารแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ยอมนำต้นฉบับ น.ส.3 ก. มาคืนแก่โจทก์ นางล้วนถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์และทายาท เมื่อเดือนมีนาคม2534 โจทก์ขอไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ไม่ยอมให้ไถ่ถอน โจทก์ไปร้องเรียนต่อผู้ใหญ่บ้าน กำนันและอำเภอ จำเลยที่ 1 ยอมให้ไถ่ถอน แต่จะให้ไถ่ถอนในราคา99,900 บาท ขอให้จำเลยที่ 1 รับชำระหนี้เป็นเงิน 4,400 บาทแล้วส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทและต้นฉบับ น.ส.3 ก. ของที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า มารดาโจทก์กู้ยืมเงินนางแพ สุดสัมฤทธิ์ภรรยาจำเลยที่ 1 ไปเป็นจำนวน 99,900 บาท โดยมอบที่ดินพิพาทให้นางแพทำนาต่างดอกเบี้ย กำหนดระยะเวลาไถ่ถอนคืน 1 ปีโดยทำสัญญาขายฝากกันเองไว้เป็นหลักฐาน เมื่อครบกำหนดมารดาโจทก์ไม่มีเงินไถ่ถอน จึงสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นางแพนางแพกับจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของโดยสุจริตติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่ดินพิพาทตกเป็นของนางแพแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยืม น.ส.3 ก.ที่ดินพิพาทจากมารดาโจทก์ ที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่าโจทก์เป็นบุตรและเป็นผู้จัดการมรดกของนางล้วน ยอดเล็กมารดาผู้ถึงแก่กรรม เมื่อปี 2513 นางล้วนกู้เงินจำเลยที่ 1จำนวน 4,400 บาท แล้วมอบที่ดินพิพาทให้ทำกินต่างดอกเบี้ยต่อมานางล้วนถึงแก่กรรม โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางล้วนได้ไปขอชำระหนี้และไถ่ที่ดินพิพาทคืนแต่จำเลยที่ 1ไม่ยอมให้ไถ่ คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิขอไถ่ที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 ในราคา 4,400 บาท หรือไม่ประเด็นข้อนี้เห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า หลังจากนางล้วนกู้เงินจำเลยที่ 1 ครั้งแรกจำนวน 4,400 บาทแล้ว นางล้วนได้กู้เงินจำเลยที่ 1 เพิ่มอีกหรือไม่ โจทก์เบิกความว่านางล้วนกู้เงินจำเลยที่ 1 เพียง 4,400 บาท เท่านั้น ที่โจทก์ทราบเพราะนางล้วนเคยเล่าให้ฟัง แต่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า หลังจากนางล้วนกู้เงินจากจำเลยที่ 1 ครั้งแรกแล้ว ต่อมานางล้วนก็ขอกู้เพิ่มเติมอีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายรวมเป็นเงิน 99,900บาท โดยนางล้วนทำสัญญาขายฝากไว้ให้ ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.1ในปัญหาข้อนี้ เห็นว่า เมื่อโจทก์ไปร้องเรียนต่อ นายโยชน์สมนิยามรัตน์ กำนันท้องที่ที่เกิดเหตุ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวไกล่เกลี่ยให้จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ไถ่ที่ดินพิพาทคืน หลังจากนายสิงขร ผู้ใหญ่บ้านไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลสำเร็จ ได้ความจากนายโยชน์พยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ยืนยันว่า นางล้วนได้กู้เงินจำเลยที่ 1 ไปหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายรวมแล้ว 99,900 บาทปรากฎตามสัญญาขายฝากเอกสารหมาย ล.1 หรือ จ.4 เมื่อโจทก์จะขอไถ่ในราคา 4,400 บาท จำเลยที่ 1 จึงไม่ยอมให้ไถ่ และว่าถ้าจะไถ่ต้องไถ่ในราคา 99,900 บาท เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถตกลงกันได้ โจทก์ก็ไปร้องเรียนต่ออำเภอ ทางอำเภอจึงเรียกโจทก์และจำเลยที่ 1 ไปไกล่เกลี่ย จากคำเบิกความของนายเถลิงศักดิ์ทองขาว ปลัดอำเภอผู้ทำการไกล่เกลี่ย ได้ความว่าโจทก์อ้างว่านางล้วนกู้เงินจำเลยที่ 1 ไป 4,400 บาท เท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่า นางล้วนกู้เงินจำเลยที่ 1 ไปหลายครั้งครั้งสุดท้ายรวมแล้วเป็นเงิน 99,900 บาท โดยจำเลยที่ 1 นำสัญญาขายฝากไปแสดงด้วย โจทก์ได้เสนอจะขอไถ่ที่ดินพิพาทคืนในราคา40,000 บาท นายเถลิงศักดิ์ได้บันทึกไว้ ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.3นายเถลิงศักดิ์เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด จึงเชื่อได้ว่าคำเบิกความของนายเถลิงศักดิ์เป็นความจริง การที่โจทก์เสนอขอไถ่ที่ดินพิพาทคืนในราคา 40,000 บาทซึ่งสูงกว่าจำนวนหนี้ที่โจทก์อ้างมาเช่นนี้ ย่อมแสดงว่า โจทก์ก็ทราบว่านางล้วน กู้เงินจากจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมภายหลังอีกอย่างแน่นอน เพราะมิฉะนั้นแล้ว โจทก์คงไม่เสนอราคาขอไถ่สูงถึง 40,000 บาท ในเรื่องเกี่ยวกับจำนวนหนี้ที่นางล้วนเป็นหนี้จำเลยที่ 1 นี้ นอกจากจำเลยที่ 1 จะอ้างแต่แรกแล้วว่านางล้วนได้กู้เงินของจำเลยที่ 1 ไปหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายรวมเป็นเงิน 99,900 บาท แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีสัญญาขายฝากเอกสารหมาย ล.1 หรือ จ.4 มาแสดง ซึ่งสัญญาดังกล่าวระบุไว้ว่านางล้วนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และนางแพเป็นเงิน99,900 บาท แม้สัญญาขายฝากจะทำกันเองมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคแรก ก็ตาม แต่เอกสารการขายฝากที่ทำกันไว้ย่อมถือได้ว่าเป็นนิติกรรมสัญญากู้เงินเป็นลายลักษณ์อักษรนั่นเองสัญญาฉบับนี้นางล้วนได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย หากนางล้วนมิได้กู้เงินจำเลยที่ 1 จำนวน 99,900 บาท จริง ก็ไม่เชื่อว่านางล้วนจะทำสัญญาขายฝากเอกสารหมาย ล.1 หรือ จ.4 ไว้ให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์เองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า สัญญาขายฝากดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเชื่อว่าเอกสารหมาย ล.1 เป็นเอกสารที่แท้จริง สำหรับข้ออ้างของโจทก์ที่ว่านางล้วนกู้เงินจำเลยที่ 1 เพียง 4,400 บาท มิได้กู้เพิ่มเติมอีกนั้น คงมีแต่คำเบิกความของโจทก์ลอย ๆ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักดีกว่าของโจทก์ฟังได้ว่านางล้วนกู้เงินจำเลยที่ 1 ไปจำนวน 99,900 บาท จริง
สำหรับปัญหาที่ว่า โจทก์จะขอไถ่ที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่านางล้วนได้เจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 หรือนางแพแล้วแต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว คงมีแต่คำเบิกความลอย ๆ เท่านั้น อีกทั้งถ้านางล้วนเจตนาสละการครอบครองจริง นางล้วนคงไม่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัดสาขาสุรินทร์ แต่น่าจะมอบอำนาจให้โอนที่ดินแก่จำเลยที่ 1หรือนางแพลอย พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางล้วนกู้เงินจำเลยที่ 1 แล้วมอบที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ทำกินต่างดอกเบี้ยเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนางล้วนจึงมีสิทธิจะขอชำระหนี้เพื่อไถ่ที่ดินพิพาทคืนได้ ปัญหาต่อไปจึงมีว่า โจทก์จะต้องไถ่ที่ดินพิพาทคืนในราคาเท่าใด เห็นว่า แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์จะขอไถ่ที่ดินพิพาทคืนในราคา 4,400 บาท ก็ตามแต่ความประสงค์หลักตามฟ้องของโจทก์ก็คือขอไถ่ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 เนื่องมาจากนางล้วนมอบที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1ทำกินต่างดอกเบี้ย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางล้วนเป็นหนี้จำเลยที่ 1 จำนวน 99,900 บาท โจทก์ก็ต้องไถ่ที่ดินพิพาทคืนในราคา 99,900 บาท และศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้ไถ่คืนตามจำนวนเงินที่เป็นหนี้กันจริงได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอ
ประเด็นข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ ประเด็นข้อนี้จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ขอยืม น.ส.3 ก. สำหรับที่ดินพิพาทจากนางแพภรรยาของจำเลยที่ 1 ไปจำนองประกันหนี้เงินกู้โดยนางล้วนทำหนังสือมอบอำนาจให้ด้วย ซึ่งนางแพก็เบิกความว่าจำเลยที่ 2 ขอยืมน.ส.3 ก. สำหรับที่ดินพิพาทไปจากนางแพจริง ที่นางแพยึดถือ น.ส.3 ก. สำหรับที่ดินพิพาทไว้นั้น เชื่อว่าเป็นเพราะนางแพเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 เงินที่นางล้วนกู้ไปจากจำเลยที่ 1 ก็เป็นเงินที่จำเลยที่ 1 กับนางแพทำมาหาได้ด้วยกันเมื่อนางล้วนกู้เงินไปจากจำเลยที่ 1 และมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ทำกินต่างดอกเบี้ย และนางล้วนยังมิได้ชำระหนี้เพื่อไถ่ที่ดินพิพาทคืน จึงเชื่อว่านางล้วนได้มอบ น.ส.3 ก. สำหรับที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และนางแพยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ด้วยเหตุนี้จึงเชื่ออีกว่า จำเลยที่ 2 ยืม น.ส.3 ก. สำหรับที่ดินพิพาทไปจากจำเลยที่ 1 และนางแพไปจำนองประกันหนี้เงินกู้โดยนางล้วนเจ้าของที่ดินพิพาททำหนังสือมอบอำนาจให้นำไปจำนองเมื่อจำเลยที่ 2 ไถ่จำนองคืนจำเลยที่ 2 จึงได้มอบ น.ส.3 ก.สำหรับที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 และนางแพ จำเลยที่ 2จึงมิได้ยึดถือ น.ส.3 ก. ไว้แต่อย่างใด ดังนั้นจำเลยที่ 2จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 คืน น.ส.3 ก. สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับชำระหนี้จากโจทก์จำนวน 99,800 บาท และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ พร้อม น.ส.3 ก. สำหรับที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 99,900 บาท ครบถ้วนแล้วนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2