แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 จะต้องพิจารณาถึงความสำคัญของข้อความที่ละเว้นไม่เปิดเผยด้วยมิใช่ว่าถ้ามีการปกปิดความจริงแล้วจะทำให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะไปเสียทั้งหมด
โรคไส้เลื่อนมิใช่เป็นโรคอันตรายร้ายแรง เมื่อผ่าตัดแล้วอาจหายไปได้การที่ผู้เอาประกันมิได้แจ้งเรื่องเคยเป็นโรคนี้ และได้รับการผ่าตัดมาก่อนให้ทราบ ยังไม่ถึงขนาดที่จะอนุมานเอาได้ว่าถ้าได้แจ้งเช่นนั้นผู้รับประกันภัยจะบอกปัดไม่รับประกัน หรือเรียกเบี้ยประกันให้สูงขึ้น จึงไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญารับประกันชีวิตของนายชนะบิดาโจทก์ไว้ ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาบิดาโจทก์เสียชีวิตด้วยอาการช๊อคกระทันหัน โจทก์ขอรับเงินจำเลยไม่ชำระให้ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า นายชนะผู้เอาประกันชีวิตรู้อยู่แล้วว่า ก่อนและในขณะที่ขอประกันชีวิต ตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวานและไส้เลื่อน แต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยความจริง ถ้าเปิดเผยความจริงจำเลยก็จะไม่รับประกัน สัญญารับประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ และจำเลยบอกล้างแล้ว จึงไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ในขณะขอเอาประกันชีวิต นายชนะไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน ส่วนที่นายชนะเคยป่วยเป็นไส้เลื่อนรับการผ่าตัดมาก่อนขอเอาประกัน ๘ ปี จะถือว่าสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสารสำคัญของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๕ อยู่ที่ว่าถ้าผู้เอาประกันรู้อยู่แล้วละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจูงใจให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา สัญญาประกันชีวิตจึงจะเป็นโมฆียะ ซึ่งจำต้องพิจารณาถึงความสำคัญของข้อความที่ละเว้นไม่เปิดเผยด้วยว่าเป็นประการใด จะถือว่าถ้ามีการปกปิดความจริงไม่ว่าประการใด ๆ แล้ว จะทำให้สัญญาเป็นโมฆียะไปเสียทั้งหมดหาได้ไม่และเห็นว่าโรคไส้เลื่อนไม่ใช่เป็นโรคอันตรายร้ายแรง และหลังจากการผ่าตัดก็ไม่ปรากฏอาการไส้เลื่อนให้เห็น โรคเบาหวานหรือโรคไส้เลื่อนจึงอาจเกิดขึ้นภายหลังเอาประกันชีวิตก็ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าที่นายชนะมิได้แจ้งเรื่องเคยเป็นไส้เลื่อนและได้รับการผ่าตัดมาก่อนให้ทราบ ยังไม่ถึงขนาดที่จะอนุมานเอาได้ว่าถ้าได้แจ้งเช่นนั้น จะทำให้จำเลยบอกปัดไม่รับประกันหรือเรียกเบี้ยประกันให้สูงขึ้น อันจะทำให้สัญญาประกันชีวิตที่ทำไว้เป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๕ จำเลยจึงต้องรับผิด
พิพากษายืน