คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อวันสิ้นหรือวันสุดท้ายแห่งอายุอุทธรณ์ เป็นวันอาทิตย์หรือวันหยุด ต้องนับวันเริ่มทำงานใหม่เป็นเป็นวันสุดท้ายแห่งอายุอุทธรณ์
นักโทษเด็ดขาด ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2500 ให้หมายความว่า นักโทษเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ซึ่งหมายแดงแจ้งโทษเด็ดขาดได้ออกก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

ย่อยาว

คดีนี้ศาลอาญาพิพากษาจำคุกจำเลย ๔ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๗๘ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๐ ต่อมาวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๐๐ จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลอาญาว่าไม่ติดใจอุทธรณ์ขอให้ศาลออกหมายแดงแจ้งโทษเด็ดขาดเพื่อจำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ศาลอาญาสั่งว่ายังไม่เกินกำหนดออกหมายแดงไม่ได้ เพราะโจทก์อาจอุทธรณ์ได้ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ศาลอาญาออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลอาญาว่าการที่ศาลออกหมายแดงแจ้งโทษเด็ดขาดของจำเลยเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ทำให้จำเลยเสียสิทธิในการที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จึงขอให้ศาลอาญาแก้ไขวันออกหมายแดงเสียใหม่ ศาลอาญาสั่งว่า ศาลออกหมายแดงก่อนวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ไม่ได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อวันสิ้นหรือวันสุดท้ายแห่งอายุอุทธรณ์ ในคดีนี้คือวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๐๐ เป็นวันอาทิตย์หรือวันหยุด จึงต้องนำมาตรา ๑๖๑ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ประกอบกันมาตรา ๑๙๘ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วันที่ ๑๓ และ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ทางราชการประกาศให้เป็นวันหยุดอีกด้วย ก็ต้องนับวันเริ่มทำงานใหม่คือวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๐๐ เป็นวันสุดท้ายแห่งอายุอุทธรณ์ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๗ วรรค ๒ คดีจะยังไม่ถึงที่สุดจนกว่าจะพ้นวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ฉะนั้น ที่ศาลออกหมายแดงให้วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ชอบแล้ว ตามมาตรา ๓ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็บัญญัติว่า
นักโทษเด็ดขาดอยู่ในข่ายได้รับ พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๐๐ ให้หมายความว่า นักโทษเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งหมายแดงแจ้งโทษเด็ดขาดได้ออกก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ โดยจะให้ถือวันออกหมายเป็นสำคัญ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยจะอ้างว่าเป็นการเอาวิธีปฏิบัติในการออกหมายมาลบล้างผลที่จำเลยได้รับตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น
พิพากษายืน

Share