คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4165/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ช. เจ้าหนี้โจทก์ได้โอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างให้ ก.และโจทก์ยอมรับว่าจะจ่ายให้ ก. แล้ว สิทธิการรับเงินของ ช.ย่อมหมดไป การที่โจทก์ส่งเงินดังกล่าวให้ศาลตามหมายอายัดเป็นความเข้าใจผิดของโจทก์ โจทก์มีสิทธิติดตามเอาคืนได้ โจทก์ส่งเงินค่าก่อสร้างที่ยังค้างชำระแก่ศาลในคดีที่ ช.เจ้าหนี้เดิมถูกจำเลยฟ้องเพราะมีหมายอายัดมา โจทก์จึงเข้าใจว่าต้องส่งไปให้ศาลและศาลคงอายัดไม่ได้ส่งไปชำระหนี้ผู้ใด การที่จำเลยกับ ช. ประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมรับเงินที่โจทก์ส่งศาล จะถือว่าโจทก์กระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ.มาตรา 407 ไม่ได้ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่ามีสิทธิติดตามเอาเงินคืนจากจำเลยได้เป็นการใช้สิทธิติดตามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความบัญญัติห้ามไว้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างก่อสร้างอาคาร ในอัตราจ้างเหมายี่สิบล้านบาทเศษ การจ่ายค่าจ้างโจทก์จะจ่ายเป็นงวด ๆ ตามผลงานแต่ละงวด ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างทั้งหมดให้ธนาคารกรุงไทย จำกัดและโจทก์ยินยอมแล้ว ห้างหุ้นส่วนชัยวิวัฒน์การช่างได้ก่อสร้างอาคารเสร็จแล้วยังมีเงินที่โจทก์จะต้องจ่ายค่าจ้างเหมางวดสุดท้ายให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัดเป็นเงิน 1,437,834.89 บาท ต่อมาศาลแพ่งมีหมายอายัดเงินค่าก่อสร้างดังกล่าว ห้ามมิให้โจทก์ชำระเงินแก่ห้างชัยวิวัฒน์การช่างรวม2 สำนวน โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องนำเงินตามที่ศาลแพ่งออกหมายอายัดมาวางต่อศาลแพ่งจึงนำส่งเงินทั้งหมดต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งได้แบ่งวางในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8051/2523 จำนวน 1,376,464.6บาท และแบ่งวางไว้ในอีกสำนวนคดีหนึ่ง 61,369.21 บาท ต่อมาจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างได้ทำสัญญาประนีประนอมกันในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8051/2523 ให้จำเลยรับเงิน 540,000 บาทจากเงินที่ศาลแพ่งมีคำสั่งอายัดไว้ เงินเหลือเท่าใดตกเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างกับพวก และศาลแพ่งจ่ายเงินดังกล่าวให้จำเลยแล้ว ต่อมาธนาคารกรุงไทย จำกัด ทวงถามเงินค่าจ้างเหมาจากโจทก์ โจทก์จึงแจ้งให้ศาลแพ่งทราบว่าเงินที่โจทก์นำมวางศาลเป็นเงินที่จะต้องจ่ายให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด และได้รับเงินที่วางไว้ในอีกสำนวนคดีหนึ่งคืนจากศาลแพ่งแล้ว เงินที่จำเลยรับไปจากศาลแพ่งเป็นเงินส่วนหนึ่งที่ห้างหุ้นส่วนชัยวิวัฒน์การช่างโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าว โจทก์ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ธนาคารกรุงไทจำกัด ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องซ้ำอีก จึงมีสิทธิติดตามเอาเงินที่จำเลยรับไปคืนจากจำเลย ขอให้บังคับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน540,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยรับเงินดังกล่าวโดยสุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวจากจำเลย โจทก์นำเงินมาวางต่อศาลแพ่งตามอำเภอใจโดยมิได้โต้แย้งหรือชี้แจงว่าเงินดังกล่าวได้มีการโอนสิทธิเรียกร้องไปแล้ว เป็นเหตุให้จำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกับห้างหุ้นส่วนชัยวิวัฒน์การช่าง ทำให้จำเลยสิ้นสิทธิดำเนินคดีดังกล่าวต่อไป จำเลยจึงไม่ต้องคืนให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาเพราะยังมิได้ชำระเงินให้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาว่า โจทก์จะเรียกเงิน 540,000บาท ที่จำเลยรับไปในคดีหมายเลขดำที่ 8051/2532 ของศาลแพ่งคืนได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำนวนเงินดังกล่าวและเงินตามสัญญาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.1 ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างคู่สัญญาก่อสร้างของโจทก์ได้โอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.2 และโจทก์ได้ยอมรับว่าจะจ่ายให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.3 แล้ว ดังนั้นสิทธิเรียกร้องในการรับเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างย่อมหมดไปแล้ว การที่โจทก์ส่งเงินมาให้ตามหมายอายัดของศาลแพ่งเป็นความเข้าใจผิดของโจทก์ โจทก์มีสิทธิติดตามคืนได้ ที่จำเลยฎีกาว่าการส่งเงินไปยังศาลแพ่งของโจทก์เป็นการกระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 นั้นเห็นว่า โจทก์ส่งเงินไปเพราะศาลแพ่งมีหมายอายัดมา โจทก์จึงเข้าใจว่าต้องส่งไปให้ศาลและศาลคงอายัดไม่ได้ส่งไปชำระหนี้แก่ผู้ใด จึงใช้บทมาตรา 407บังคับโจทก์ไม่ได้ ส่วนเรื่องอายุความนั้นจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์คืนในฐานะลาภมิควรได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชยมาตรา 419 มีอายุความเพียง 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิติดตามเอาเงิน 540,000 บาท คืนจากจำเลยคดีนี้ได้ ซึ่งโจทก์บรรยายเช่นนี้เป็นการใช้สิทธิติดตามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความบัญญัติห้ามไว้
พิพากษายืน.

Share