คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7149/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีอำนาจกำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับและวรรคสองกำหนดว่า การกำหนดเบี้ยปรับดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและวรรคสี่ระบุให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับฯ สำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงถือได้ว่าระเบียบดังกล่าวได้ออกโดยชอบ ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายและไม่ซ้ำซ้อน
ระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับกำหนดให้คิดเบี้ยปรับกระสอบละ 2,000 บาทแต่ไม่น้อยกว่าครั้งละ 200,000 บาท ไม่ใช่ค่าปรับซึ่งเป็นโทษทางอาญาเพราะเบี้ยปรับเป็นการกำหนดความรับผิดในทางแพ่งสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน จึงเป็นคนละอย่างกับโทษปรับตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายฯ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท
เบี้ยปรับที่ศาลจะลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นเบี้ยปรับอันเกิดจากการที่คู่สัญญาซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำสัญญาไว้ต่อกันว่า ลูกหนี้จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 379 ถึงมาตรา 381 มิใช่กรณีของจำเลยซึ่งจะต้องรับผิดเพราะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดโดยกฎหมาย
เบี้ยปรับที่คณะกรรมการของโจทก์กำหนดให้จำเลยนำไปชำระ ถือได้ว่าเป็นหนี้อย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ชำระภายในเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ข้อ 9 วรรคหนึ่ง จึงต้องถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์มีอำนาจเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 22

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าจำเลยลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายขาวในฤดูการผลิตปี 2529/2530 ออกจากโรงงาน โดยฝ่าฝืนระเบียบและต้องชำระเบี้ยปรับตามระเบียบกระสอบละ 2,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,380,493.33 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,342,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,342,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นโรงงานผลิตน้ำตาล ในฤดูการผลิตปี 2529-2530 พนักงานควบคุมของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ประจำโรงงานของจำเลยตรวจสอบพบว่าน้ำตาลทรายขาวที่จำเลยผลิตและจะต้องเก็บรักษาไว้ที่โรงงานของจำเลยชนิดบรรจุกระสอบละ 100 กิโลกรัม ขาดหายไป 345 กระสอบ และชนิดบรรจุกระสอบละ 50 กิโลกรัม ขาดหายไป 652 กระสอบ เมื่อคิดถัวเฉลี่ยเป็นกระสอบละ 100 กิโลกรัม ทั้งหมดแล้วเท่ากับน้ำตาลกระสอบละ 100 กิโลกรัม ขาดหายไปทั้งสิ้น 671 กระสอบ คณะกรรมการบริหาร เห็นว่าจำเลยต้องชำระเบี้ยปรับตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 กระสอบละ 2,000 บาท คิดเป็นเงิน 1,342,000 บาท จึงมีคำสั่งให้จำเลยนำเบี้ยปรับจำนวนดังกล่าวไปชำระให้โจทก์ภายใน 15 วัน แต่จำเลยไม่ชำระ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า เป็นระเบียบที่ออกซ้ำซ้อนและขัดต่อพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท จึงเป็นระเบียบที่มิชอบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายไม่มีอำนาจนำระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับแก่จำเลยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คณะกรรมการมีหน้าที่ (25) กำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับและเงินรางวัลสำหรับการนำจับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด” และวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “การกำหนดตาม (25) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี” และวรรคสี่บัญญัติว่า “การกำหนดตาม (25) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงมีอำนาจกำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับฯได้โดยชอบ เมื่อได้กำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับฯ ดังกล่าวขึ้นมาโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ดังนี้ จึงถือได้ว่าระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยเบี้ยปรับฯ สำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ออกโดยชอบ ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายและไม่ซ้ำซ้อนและที่จำเลยฎีกาว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายไม่มีอำนาจออกระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับฯ กำหนดให้คิดเบี้ยปรับกระสอบละ 2,000 บาท แต่ไม่น้อยกว่าครั้งละ 200,000 บาท เพราะเป็นการกำหนดค่าปรับสูงเกินกว่าที่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทนั้น เห็นว่า เบี้ยปรับที่กำหนดขึ้นมาดังกล่าวไม่ใช่ค่าปรับซึ่งเป็นโทษทางอาญาเพราะเบี้ยปรับเป็นการกำหนดความรับผิดในทางแพ่งสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน จึงเป็นคนละอย่างกัน จะนำจำนวนเบี้ยปรับไปเปรียบเทียบกับค่าปรับไม่ได้ นอกจากนี้ที่จำเลยฎีกาว่า ถึงจะเป็นความผูกพันทางแพ่งแต่จำเลยเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน เบี้ยปรับไม่ควรจะสูงเกินกว่ากระสอบละ 300 บาท นั้น เห็นว่า เบี้ยปรับที่ศาลจะลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นเบี้ยปรับอันเกิดจากการที่คู่สัญญาซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำสัญญาไว้ต่อกันว่าลูกหนี้จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระให้ถูกต้องสมควรดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 379 ถึงมาตรา 381 มิใช่กรณีของจำเลยซึ่งจะต้องรับผิดเพราะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดโดยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไว้นั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อแรกนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปเป็นข้อที่สองว่า จำเลยลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายขาวออกจากโรงงานหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยขนน้ำตาลทรายขาวไปเมื่อใด โดยวิธีการอย่างไร มิใช่ถือเอาความผิดพลาดของตัวเลขทางบัญชีมาเป็นเกณฑ์สันนิษฐานและความจริงน้ำตาลทรายขาวถูกนำไปรวมกับน้ำตาลทรายดิบเพื่อแปรสภาพใหม่ ทำให้น้ำตาลทรายดิบมีปริมาณมากขึ้นจำเลยไม่ได้มีเจตนาทำให้ขาดหายนั้น เห็นว่า การตรวจนับจำนวนน้ำตาลและการขนย้ายน้ำตาลในแต่ละวันตามที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบมาได้ความตรงกันว่า มีเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด และฝ่ายจำเลยคอยตรวจนับจำนวนน้ำตาลที่ผลิตได้และการขนย้ายน้ำตาลแต่ละวันอย่างละเอียด มีการจดบันทึกไว้ทุกวัน ต้องลงลายมือชื่อรับรองร่วมกัน และฝ่ายจำเลยจัดทำบัญชีควบคุมปริมาณน้ำตาลทุกวัน เห็นว่า ความผิดพลาดของตัวเลขทางบัญชีไม่น่าจะมีได้ ทั้งน้ำตาลทรายขาวกับน้ำตาลทรายดิบมีลักษณะแตกต่างกันมากและน้ำตาลทรายขาวบรรจุในกระสอบ ส่วนน้ำตาลทรายดิบเทกองลงไป การจัดเก็บก็แยกจากกัน จึงไม่น่าจะมีการนำน้ำตาลทรายขาวไปกองรวมกับน้ำตาลทรายดิบดังที่จำเลยฎีกาได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องเก็บรักษาน้ำตาลทรายขาวที่ผลิตได้ไว้ในโรงงาน และต้องแจ้งขออนุญาตทุกครั้งที่จะขนย้ายเมื่อน้ำตาลทรายขาวที่เหลืออยู่มีจำนวนกระสอบไม่ตรงกับบัญชีควบคุม จึงต้องฟังว่าจำเลยลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายขาวออกไป เพราะนอกจากจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานแล้วก็ไม่น่าจะมีใครอื่นสามารถขนเอาน้ำตาลทรายจำนวนมากและมีการดูแลรักษาเป็นอย่างดีออกไปจากโรงงานโดยไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต่อไปตามฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจเรียกดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับตามฟ้องหรือไม่ ข้อนี้จำเลยได้ยกขึ้นว่ากล่าวในอุทธรณ์ของจำเลยด้วยแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัย เห็นสมควรวินิจฉัยให้ เห็นว่า เมื่อเบี้ยปรับที่คณะกรรมการของโจทก์กำหนดให้จำเลยนำไปชำระมิใช่โทษทางอาญา แต่เป็นการกำหนดความรับผิดในทางแพ่งดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนี้เงินอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ชำระเบี้ยปรับภายในระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ข้อ 9 วรรคหนึ่ง จึงต้องถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด และโจทก์มีอำนาจเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531 ไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเบี้ยปรับดังกล่าวแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2531 จำเลยต้องชำระเบี้ยปรับให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2531 เมื่อจำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share