คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ก่อสร้างโรงงานและกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กผนังอิฐบล็อกที่พิพาทบนที่ดินของโจทก์ ต่อมาจำเลยกับพวกได้ก่อสร้างอาคารคอนกรีตสำนักงานสูง4 ชั้นชิดกำแพงพิพาทของโจทก์เป็นเหตุให้กำแพงพิพาทมีรอยแตกร้าวเป็นเส้น เฉพาะกำแพงช่องที่ 1 ที่ 5 และที่ 22 รอยแตกร้าวของปูนเป็นช่องใหญ่ประมาณ 1 นิ้วช่องผนังกำแพงที่แตกร้าวเป็นเส้นมีจำนวน 14 ช่อง และบริเวณแนวกำแพงที่โอนเอนเข้ามาจากระดับตั้งฉากเดิม เมื่อนับจากผนังกำแพงใกล้กับท่อน้ำทิ้งหลังอาคารสำนักงานของจำเลย ผนังกำแพงเอนจากแนวตั้งฉากประมาณ 4 เซนติเมตร และเอนเข้าไปด้านในจนถึงจุดที่เอนมากที่สุดห่างจุดแรก 9 เมตร มีความเอนประมาณ 15เซนติเมตร เมื่อความเสียหายของกำแพงพิพาทมีเพียงบางส่วน จำนวน 14 ช่องของจำนวนกำแพงพิพาทซึ่งมีทั้งหมด 22 ช่อง ถือได้ว่ามีความเสียหายมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกำแพงพิพาท อีกทั้งกำแพงพิพาทยังเอียงจากแนวระดับตั้งฉากเดิมอีกด้วยประกอบกับความเอียงของกำแพงมิได้อยู่คงที่ หากแต่มีการเอียงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลให้กำแพงพิพาทส่วนอื่นที่ยังไม่ได้รับความเสียหาย มีโอกาสเอียงไปตามแรงดึงของกำแพงส่วนที่เอียงได้ เมื่อได้คำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการทำละเมิดของจำเลยแล้ว การให้จำเลยจัดการรื้อถอนกำแพงพิพาทและก่อสร้างใหม่ย่อมมีความเหมาะสมกว่าให้จำเลยก่อสร้างกำแพงใหม่เฉพาะส่วนที่เสียหาย
แม้ ป.พ.พ.มาตรา 435 ที่บัญญัติให้บุคคลใดที่จะประสบความเสียหายอันพึงเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นของผู้อื่น ให้บุคคลนั้นชอบที่จะเรียกให้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายนั้นเสียได้ก็ตามแต่ในการก่อสร้างอาคารของจำเลย จำเลยมิได้อาศัยหรือใช้กำแพงพิพาทของโจทก์จำเลยเพียงแต่ก่อสร้างอาคารชิดกำแพงพิพาทของโจทก์เท่านั้น เมื่อศาลได้คำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการก่อสร้างอาคารชิดกำแพงพิพาท รวมทั้งที่ได้กำหนดให้จำเลยก่อสร้างกำแพงใหม่ให้แก่โจทก์แล้ว ถือได้ว่าได้มีการบำบัดปัดป้องภยันตรายในระดับหนึ่งแล้ว กรณีจึงยังไม่สมควรที่จะให้จำเลยรื้ออาคารที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายนั้นอีก

Share