แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้เป็นหุ้นส่วนมีสิทธิได้รับส่วนกำไรอันเกิดจากกิจการที่ทำนั้น หากไม่ได้รับส่วนแบ่งในผลกำไรแต่ได้รับเป็นอย่างอื่น ไม่ถือว่าเป็นหุ้นส่วน ปรากฏว่าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีการแบ่งผลประโยชน์ให้กันทุกเดือน เดือนละ 2 เปอร์เซ็นต์ ของเงินลงทุน โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกำไรหรือขาดทุน แสดงว่าโจทก์ได้รับผลประโยชน์จากเงินที่ลงทุนทุกเดือนโดย ไม่ได้รอผลกำไรจากกิจการแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยเพื่อ ทำกิจการซื้อขายทองรูปพรรณ แต่เป็นกรณีที่จำเลยให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์จากการที่โจทก์ให้เงินจำเลยไปลงทุนทำกิจการเกี่ยวกับทองรูปพรรณอันเป็นกิจการของจำเลยเองจำเลยประกอบธุรกิจค้าขายทองมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี ย่อมรู้ดีว่าการลงลายมือชื่อในเช็คสั่งจ่ายเงินให้บุคคลอื่นต้องผูกพันตนเองอย่างไร จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะยอมสั่งจ่าย เช็คพิพาทให้โจทก์โดยที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน เมื่อโจทก์ยืนยันว่ามูลเหตุที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาท ให้โจทก์มาจากการที่จำเลยกู้เงินโจทก์หลายครั้งรวมยอดหนี้ได้ 1,000,000 บาท จำเลย จึงสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน คำนวณถึงวันฟ้อง 18,750 บาทรวมต้นเงินและดอกเบี้ย 1,018,750 บาท และดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจากต้นเงินตามเช็คนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า เช็คพิพาทตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ต่อกัน เป็นเช็คที่จำเลยมอบแก่โจทก์เป็นหลักฐานในการเข้าหุ้นส่วนค้าทองรูปพรรณ ต่อมากิจการค้าทองไม่มีผลกำไรโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินที่ลงหุ้นไปแล้วคืนเพราะหุ้นส่วนทุกคนต้องเฉลี่ยกันรับผิดในผลขาดทุน จึงไม่มีสิทธินำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เช็คพิพาทเป็นของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2539 จำนวนเงิน 1,000,000 บาท โดยจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้โจทก์ เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนด โจทก์ได้นำไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2539 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า พยานจำเลยเบิกความยืนยันว่า โจทก์ จำเลยและนางสาววิไลลักษณ์เป็นหุ้นส่วนกันโดยนำเงินมาลงทุนซื้อทองรูปพรรณไปขายนำกำไรมาแบ่งกัน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินกิจการอย่างไร มีการซื้อขายที่ไหนอย่างไร จำนวนเท่าใด ได้กำไรและขาดทุนเท่าใด แม้การเป็นหุ้นส่วนสามารถตกลงกันด้วยวาจาได้ก็ตาม แต่กิจการซื้อขายทองรูปพรรณซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีราคาสูง มีรายละเอียดที่เป็นตัวเลขจำนวนมากยากแก่การจดจำจึงจำเป็นต้องมีการจดบันทึกและเก็บรักษาไว้ จำเลยเบิกความว่า เมื่อซื้อทองรูปพรรณมาแล้วได้ส่งมอบให้ตัวแทนต่างจังหวัดรับไปจำหน่าย จึงยิ่งต้องทำหลักฐานกันไว้ แต่จำเลยกลับไม่มีหลักฐานใด ๆ มาแสดงให้เห็นเลย อีกทั้งการเป็นหุ้นส่วนกันนั้น ประการสำคัญต้องมีการทำกิจการร่วมกัน แต่ตามคำเบิกความของพยานจำเลยไม่มีรายละเอียดว่าโจทก์ จำเลยและนางสาววิไลลักษณ์ทำกิจการร่วมกันอย่างไร มีแต่คำเบิกความลอย ๆว่า ได้นำเงินที่ลงหุ้นไปซื้อทองรูปพรรณนำไปให้ตัวแทนขาย หลักในการวินิจฉัยว่าเป็นหุ้นส่วนหรือไม่ อีกประการหนึ่งคือ ผู้เป็นหุ้นส่วนมีสิทธิที่จะได้รับส่วนกำไรอันเกิดจากกิจการที่ทำนั้นซึ่งหมายความว่า บุคคลที่ร่วมทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต้องมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในผลกำไร หากไม่ได้รับส่วนแบ่งในผลกำไรแต่ได้รับเป็นอย่างอื่น ก็ไม่ถือว่าเป็นหุ้นส่วน คดีนี้พยานจำเลยทั้งสองคนดังกล่าวเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ระหว่างหุ้นส่วนมีการแบ่งผลประโยชน์ให้กันทุกเดือน เดือนละ 2 เปอร์เซ็นต์ ของเงินลงทุน โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกำไรหรือขาดทุน แสดงให้เห็นได้ชัดว่าโจทก์ได้รับผลประโยชน์จากเงินที่ลงทุนทุกเดือนโดยไม่ได้รอผลกำไรจากกิจการแต่อย่างใด กรณีเช่นนี้จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยเพื่อทำกิจการซื้อขายทองรูปพรรณแต่เป็นกรณีที่จำเลยให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์จากการที่โจทก์ให้เงินจำเลยไปลงทุนทำกิจการเกี่ยวกับทองรูปพรรณอันเป็นกิจการของจำเลยเอง แม้จำเลยจะมีนางนิตยาปฎิมาสงเคราะห์ นางสาวสุมาลี ใคร้วานช นางวลีรัตน์ จิวจินดา และนางสาวกันต์ฤทัยเชื้อภิญญากุล มาเบิกความเป็นพยานว่า โจทก์จำเลยร่วมลงทุนค้าขายทองรูปพรรณก็ตาม แต่เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ เท่านั้น ไม่มีรายละเอียดในการร่วมลงทุนว่าเป็นอย่างไร คำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง นอกจากนี้จำเลยประกอบธุรกิจค้าขายทองมาเป็นเวลานานเกือบ 30 ปี ย่อมรู้ดีว่าการลงลายมือชื่อในเช็คสั่งจ่ายเงินให้บุคคลอื่นต้องผูกพันตนเองอย่างไร จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะยอมสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์โดยที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า มูลเหตุที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ เนื่องจากจำเลยได้กู้เงินจากโจทก์หลายครั้ง ครั้งละ 100,000 บาท ถึง 300,000 บาท แล้วจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ทุกครั้ง ต่อมารวมยอดหนี้ได้ 1,000,000 บาท จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้และขอรับเช็คฉบับก่อน ๆ ที่เคยสั่งจ่ายไว้คืนไป ซึ่งจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าได้เคยสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์หลายครั้ง แต่บ่ายเบี่ยงว่าได้สั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ตามจำนวนหุ้นที่โจทก์ลงทุนแต่ละครั้ง และได้เปลี่ยนเช็คให้โจทก์ทุกครั้งที่ครบกำหนดจนกระทั่งเช็คมียอดลงทุนถึง 1,000,000 บาท พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและมีน้ำหนักในการรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยยืมเงินจากโจทก์หลายครั้ง โดยแต่ละครั้ง จำเลยสั่งจ่ายเช็คมอบให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ ต่อมายอดหนี้รวมกันแล้วเป็นเงิน 1,000,000 บาท จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้จำนวนดังกล่าว เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน (วันที่ 2 กรกฎาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน18,750 บาท