คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 714/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4,7,8,15,66,67,97,102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,83,32,33 และมีคำขอให้ ริบของกลางคือธนบัตรที่จำเลยทั้งสองทอนให้เจ้าพนักงานตำรวจ ผู้ทำการล่อซื้อด้วย แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้มีคำวินิจฉัยว่า จะริบหรือไม่ริบธนบัตรดังกล่าว คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9) แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 ธนบัตรของกลางที่จำเลยทอนให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการ ล่อซื้อเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐาน จำหน่ายยาเสพติดให้โทษจึงต้องริบ ตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 การริบทรัพย์สินนี้ แม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญ จึงต่างกับโทษ สถานอื่น ซึ่งบางกรณีแม้จำเลยจะไม่ได้กระทำผิดหรือกระทำผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ ดังนี้ ศาลจึงมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สิน ของกลางนี้ได้ มิใช่เป็นการเพิ่มโทษจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67,97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83, 32, 33 ริบของกลาง ยกเว้นเงิน 7,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อคืนแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,66 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี กระทงหนึ่งและฐานจำหน่าย จำคุก 6 ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุก 14 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ขณะกระทำผิดอายุกว่าเจ็ดปี แต่ยังไม่เกินสิบสี่ปี จึงไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ส่งไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรีมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74(5) ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนเงิน 7,000 บาท ที่ใช้ในการล่อซื้อแก่เจ้าของส่วนเงินสด 27,500 บาท คืนแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน สำหรับจำเลยที่ 1 และยกอุทธรณ์จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้องชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยที่ 1 มีว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมหรือกรรมเดียว เห็นว่าการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ลักษณะของการกระทำแตกต่างกัน เป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ทั้งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ก็ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่าจำหน่าย ให้มีความหมายรวมถึงการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4 แสดงว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มุ่งประสงค์จะลงโทษการมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษทั้งสองกรณี ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งสองกรรมชอบแล้ว
คดีนี้โจทก์มีคำขอให้ริบของกลางคือธนบัตรจำนวน 500 บาทที่จำเลยทั้งสองทอนให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการล่อซื้อด้วยแต่ศาลล่างทั้งสองมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบหรือไม่ริบธนบัตรดังกล่าว คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9) แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นว่าธนบัตรจำนวน 500 บาท ที่จำเลยทั้งสองทอนให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการล่อซื้อเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ จึงต้องริบเสียด้วย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 การริบทรัพย์สินนี้แม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญต่างกับโทษสถานอื่น ซึ่งบางกรณีแม้จำเลยจะไม่ได้กระทำผิดหรือกระทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินของกลางได้ จึงมิใช่การเพิ่มโทษจำเลย ศาลฎีกา จึงมีอำนาจสั่งริบของกลางได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบธนบัตรจำนวน 500 บาท ที่จำเลยทั้งสองทอนให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการล่อซื้อด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share