แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจที่กระทรวงในรัฐบาลแต่งตั้งบุคคลให้ฟ้องคดีแทนแม้มิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ไม่ทำให้เสียไป เพราะได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร จำเลยปลูกบ้านบนที่ราชพัสดุซึ่งเป็นที่ดินที่ใช้ในราชการกระทรวงกลาโหมโดยกองทัพบก บ้านย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน เมื่อกองทัพบกโอนที่ดินให้โจทก์จึงเท่ากับโอนบ้านให้แก่โจทก์ด้วย ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับกองทัพบกที่ว่า จำเลยยกบ้านพิพาทให้แก่กองทัพบก โดยกองทัพบกตกลงให้จำเลยอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทได้ตลอดไปจนกว่ากองทัพบกจะใช้ประโยชน์อย่างอื่น เข้าลักษณะสิทธิอาศัยซึ่งเป็นทรัพย์สิทธิอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ได้จดทะเบียนทรัพยสิทธิต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่บริบูรณ์ ใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยนายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ในฐานะอธิบดีกรมธนารักษ์ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินราชพัสดุตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับที่ 90/2479 เลขที่ดิน 462 ทะเบียนราชพัสดุที่ 12309เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 33 ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณริมถนนพหลโยธินตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอบางซื่อ จังหวัดพระนคร(กรุงเทพ) เดิมเป็นที่ดินสำหรับใช้ในราชการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้นำขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุ และได้ให้กองทัพบกเป็นผู้ครอบครองดูแลใช้ประโยชน์ ต่อมากระทรวงกลาโหมได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวบางส่วนซึ่งทางกองทัพบกหมดความจำเป็นที่จะใช้ประโยชน์กลับคืนมาให้โจทก์ เป็นเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา โดยยังคงสงวนที่ดินบางส่วนที่เหลือไว้ใช้ในราชการกองทัพบก จำเลยได้เข้าทำการปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ชั้นเดียว เลขที่ 300 ในที่ดินตามหนังสือสำคัญดังกล่าวแถบทางทิศเหนือ เนื้อที่ประมาณ 109 ตารางวา โดยจำเลยไม่มีสิทธิกองทัพบกจึงได้ดำเนินการขับไล่จำเลย ต่อมาจำเลยได้ตกลงทำนิติกรรมยกกรรมสิทธิ์ในอาคารเลขที่ 300 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกองทัพบกจำเลยได้ทำสัญญาอาศัยที่ดินและอาคารกับทางกองทัพบกโดยจำเลยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กองทัพบกในอัตราเดือนละ 500 บาท เมื่อครบกำหนดสัญญา และจำเลยก็ยังคงอยู่อาศัยในที่ดินและอาคารดังกล่าวตลอดมาจนปัจจุบัน ขอศาลบังคับให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารเลขที่ 300 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนถึงวันฟ้อง จำนวน 29,040 บาท และให้เสียดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยชำระเสร็จกับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,800 บาทนับแต่วันฟ้องไป จนกว่าจำเลยและบริวารออกจากที่ดินและอาคารของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินและอาคารพิพาทต่อไป จำเลยให้การว่า นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ ที่ราชพัสดุตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ 90/2479 ที่พิพาทตามฟ้องนั้น เดิมเป็นที่ดินใช้ประโยชน์ในราชการทหาร จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304ฉะนั้น การที่มีชื่อผู้ใดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท จึงมีผลเป็นเพียงว่าผู้นั้นเป็นผู้ดูแลรักษาที่พิพาทอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305โจทก์อยู่ในฐานะผู้ดูแลเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทจึงไม่อาจเป็นของโจทก์ตามฟ้อง จำเลยได้ยกกรรมสิทธิ์อาคารเลขที่ 300 ให้กองทัพบกเพื่อเป็นการตอบแทนที่กองทัพบกให้จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินแปลงพิพาทตลอดไปจนกว่ากองทัพบกมีความจำเป็นต้องการใช้ที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์ในทางราชการเท่านั้นและจำเลยยังได้ชำระเงินค่าบำรุงที่ดินเพื่อประโยชน์ในกิจการของกองพลทหารม้า สังกัดกองทัพบกอีกเดือนละ 500 บาท ข้อตกลงสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนจำเลยกับกองทัพบกจึงได้ไปจัดการโอนกรรมสิทธิ์อาคารโดยทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์และนิติกรรมการอาศัย จำเลยจึงมีสิทธิอยู่ในที่ดินแปลงพิพาทได้ตลอดไป และผูกพันโจทก์ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องที่ดินแปลงพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารเลขที่ 300ลงบนที่ดินพิพาทด้วยทุนทรัพย์ของตนเอง กรรมสิทธิ์ในอาคารเลขที่ 300จึงเป็นของจำเลย อาคารดังกล่าวจึงไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินแปลงพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เมื่ออาคารเลขที่ 300 เป็นอสังหาริมทรัพย์ การโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารไปเป็นของโจทก์ ก็จะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เสียก่อน โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคาร จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยออกจากอาคารขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและอาคารเลขที่ 300 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนในเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไปให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่11 กรกฎาคม 2525 จนกว่าจะขนย้ายออกไป จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังได้ว่าที่ดินราชพัสดุตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ 90/2479เดิมอยู่ในความครอบครองของกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกใช้ส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งกองพลทหารม้า จำเลยได้ปลูกบ้านพิพาทลงบนที่ดินแปลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นเนื้อที่ประมาณ 107 ตารางวา โดยเช่าที่ดินส่วนนี้จากนายเกยูร ลิ่มทอง ผู้เช่าจากกองทัพบกอยู่เดิม และต่อมาทำนิติกรรมยกบ้านพิพาทให้กองทัพบกแล้วทำสัญญาอาศัยกับกองทัพบกในเวลาต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 บังคับใช้ กระทรวงกลาโหมได้คืนที่ดินแปลงนี้แก่โจทก์ คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องและมีสัญญาต่างตอบแทน ระหว่างจำเลยกับกองทัพบกหรือไม่ หากมีจะมีผลบังคับโจทก์หรือไม่
ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จำเลยฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ชอบ เพราะมอบอำนาจทั่วไปไม่ระบุให้ชัดแจ้งว่าให้ใครฟ้อง และฟ้องใคร และมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร เห็นว่า ปัญหาที่ว่า เป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ ฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่า ไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจทั่วไป เพราะจำเลยมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ในปัญหานี้ จึงหยิบยกมาอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่ว่าหนังสือมอบอำนาจมิได้ปิดอากรแสตมป์ แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงไม่เป็นปัญหาที่ได้ว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้น แต่ศาลฎีกาก็จะวินิจฉัยให้เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเห็นว่าโจทก์เป็นกระทรวงในรัฐบาล ได้รับยกเว้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์หนังสือมอบอำนาจตามประมวลรัษฎากรดังนี้ หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ของโจทก์ จึงชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า บ้านพิพาทกรรมสิทธิ์ยังเป็นของกองทัพบกเพราะกองทัพบกไม่ได้ส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยนั้น เห็นว่า ที่ดินที่จำเลยใช้ปลูกบ้านพิพาทเป็นที่ราชพัสดุที่กระทรวงกลาโหมโดยกองทัพบกได้โอนให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 11 ว่า ให้โอนบรรดาที่ราชพัสดุที่กระทรวง ทบวง กรม ได้มา เป็นของกระทรวงการคลังดังนี้ บ้านพิพาทซึ่งปลูกสร้างในที่ดินแปลงดังกล่าวและเป็นส่วนควบกับที่ดินแปลงนั้น ย่อมต้องโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ด้วยที่จำเลยนำสืบว่า กองทัพบกไม่ได้ส่งมอบบ้านพิพาทให้แก่โจทก์นั้นเห็นว่า บ้านพิพาทเป็นส่วนควบของที่ดิน เมื่อกองทัพบกโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์จึงเท่ากับโอนบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ด้วยกรณีฟังได้ว่าบ้านพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องฎีกาจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยทำนิติกรรมยกบ้านพิพาทให้กองทัพบก โดยกองทัพบกตกลงให้จำเลยอยู่อาศัยในบ้านพิพาทได้ตลอดไปจนกว่ากองทัพบกจะใช้ประโยชน์อย่างอื่น เป็นสัญญาต่างตอบแทนนั้น เห็นว่า ถึงแม้จะมีข้อตกลงเป็นการตอบแทนกันดังกล่าว ข้อตกลงนั้นเข้าลักษณะสิทธิอาศัย ซึ่งเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง เมื่อมิได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่บริบูรณ์ ใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท เมื่อไม่ต้องการให้จำเลยอยู่ต่อไป ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกไปได้ ฎีกาจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน