แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทายาทอาจถูกเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องได้เสมอ แต่ทายาทนั้นไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่านายเทียนไล้ได้จำนองที่ดินไว้กับโจทก์เป็นเงิน 101,700 บาทนายเทียนไล้ถึงแก่กรรม โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวถึงจำเลยซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทรับมรดกของนายเทียนไล้ให้จัดการไถ่ถอนจำนอง จำเลยไม่ไถ่ถอนจึงขอให้บังคับจำเลยใช้ต้นเงินจำนองกับดอกเบี้ย หากไม่ใช้ก็ขอให้ยึดที่ดินที่จำนองขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้โจทก์
จำเลยให้การว่าเป็นบุตรและเป็นทายาทโดยธรรมของนายเทียนไล้จริงแต่ยังมีพี่และน้องอีก และหลังจากนายเทียนไล้ถึงแก่กรรมได้ตกลงแบ่งมรดกกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินจำนองตามฟ้องทายาทคนอื่นเป็นผู้รับมรดก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยไม่ใช่ผู้จำนองและไม่ใช่ผู้ได้รับมรดก
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์หากไม่ใช้ก็ให้ยึดที่ดินจำนองขายทอดตลาด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1738 วรรค 2 มาตรา 1737 และมาตรา 1601 แสดงว่าโดยปกติทายาทอาจถูกเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องได้เสมอ แต่ทายาทนั้นไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ คดีนี้จำเลยรับว่าเป็นทายาทของผู้ตายและไม่ได้ปฏิเสธว่าตนไม่ได้รับมรดกเลยเพียงแต่อ้างว่าตนไม่ได้แบ่งมรดกโฉนดที่ดินที่จำนองเท่านั้น และตามโฉนดก็ยังคงเป็นชื่อผู้ตาย หาได้มีผู้รับมรดกและเปลี่ยนชื่อเป็นทายาทคนอื่นรับมรดกไปไม่ จำเลยซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายด้วยคนหนึ่ง ย่อมจะถูกโจทก์ฟ้องร้องได้แต่จำเลยย่อมจะไม่รับผิดเกินกว่าทรัพย์ที่ตกทอดได้แก่ตน (อ้างฎีกาที่ 866/2508 ที่วินิจฉัยว่า เจ้าหนี้ฟ้องทายาทลูกหนี้ผู้ตายได้ แม้ทายาทจะมิได้รับมรดกเป็นเรื่องที่โจทก์จะบังคับเอาจากมรดกของผู้ตายในชั้นบังคับคดีโดยจำเลยไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว) ศาลฎีกาจึงเห็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยได้
พิพากษายืน