แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัทจำเลยมิได้เข้าร่วมทำการขนส่งหรือขนถ่ายสินค้าการขนส่งได้กระทำโดยเรือ น. เพียงทอดเดียวจากประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทย จำเลยจึงมิได้เป็นผู้ขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 8 รับขน อันเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงกับการรับขนทางทะเลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 609 แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้แจ้งการมาถึงของสินค้าให้ผู้รับตราส่งทราบ ให้ผู้รับตราส่งนำใบตราส่งมามอบเพื่อรับใบเบิกสินค้าจากจำเลยและการกระทำของจำเลยจะได้ค่าตอบแทนจากบริษัทผู้ขนส่งก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงผู้รับจ้างหรือตัวแทนของบริษัทผู้ขนส่งในการติดต่อกับท่าเรือ เจ้าหน้าที่และผู้รับตราส่งเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 618 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปลายปี พ.ศ. 2523 ห้างหุ้นส่วนจำกัดสตาร์อีเล็คโทรนิคส์ ได้สั่งซื้อชิ้นส่วนสำหรับผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ายี่ห้อ “รูบี้คอร์น”จากบริษัทรูบีคอร์น สิงคโปร์ พีทีอี จำกัด ประเทศสิงคโปร์2 ครั้ง รวม 83,933 ชิ้น ในการขนส่งมายังประเทศไทยผู้ขายได้ว่าจ้างบริษัทฟราต้าชิปปิ้ง พีทีอี จำกัด ให้เป็นผู้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวมาทางทะเล โดยเรือชื่อ “เนปจูน โทปาส” โดยบรรทุกสินค้าทั้งหมดในกล่องจำนวน 12 กล่อง ห้างหุ้นส่วนจำกัดสตาร์อีเล็คโทรนิคส์ ได้เอาประกันภัยสินค้าสำหรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่สินค้าในระหว่างการขนส่งทางทะเลจากประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทยไว้กับโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 5,327 เหรียญสหรัฐบริษัทฟราต้าชิปปิ้ง พีทีอี จำกัด ผู้ขนส่งทอดแรกไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย จึงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ขนส่งอีกทอดหนึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2524 เรือ”เนปจูน โทปาส” ได้เข้าเทียบท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยปรากฏว่าสินค้ารายนี้สูญหายไปทั้งหมด เป็นเงิน 5,327 เหรียญสหรัฐ เทียบเท่าเงินไทย 122,521 บาทซึ่งถือว่าเป็นความสูญหายที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งทางทะเลบริษัทฟราต้าชิปปิ้ง พีทีอี จำกัด และจำเลยในฐานะผู้ขนส่งหลายทอดจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสตาร์อีเล็คโทรนิคส์ผู้รับตราส่ง และห้างหุ้นส่วนจำกัดสตาร์อีเลคโทรนิคส์ ได้เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉยห้างหุ้นส่วนจำกัดสตาร์อีเล็คโทรนิคส์จึงเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ตามสัญญาประกันภัย โจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่า ความเสียหายเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยการขนส่งทางทะเลจริง จึงได้ชำระค่าเสียหายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสตาร์อีเล็คโทรนิคส์ 122,521 บาท โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายในอันที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทฟราต้าชิปปิ้ง พีทีอี จำกัด และจำเลยโจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์122,521 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า บริษัทฟราต้าชิปปิ้งพีทีอี จำกัด ผู้ขนส่งได้ว่าจ้างเรือ “เนปจูน โทปาล” ของบริษัทเนปจูน โอเรียนต์ ไลน์ จำกัด ขนส่งสินค้ารายนี้จากท่าเรือเมืองสิงคโปร์ มายังท่าเรือกรุงเทพมหานครอันเป็นการขนส่งทอดเดียว มิใช่ขนส่งหลายทอดดังโจทก์ฟ้องบริษัทฟราต้าชิปปิ้งพีทีอี จำกัด ไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ขนส่งอีกทอดหนึ่งการขนสินค้าขึ้นจากเรือที่ท่าเรือกรุงเทพมหานครเป็นของบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทเนปจูน โอเรียนต์ ไลน์ จำกัด การขนส่งสินค้ารายพิพาทใช้ระบบคอนเทนเนอร์ โดยเจ้าของสินค้าหรือผู้ส่งสินค้าบรรจุสินค้าลงในตู้คอนเทนเนอร์ต่อหน้าเจ้าพนักงานศุลกากรเมืองท่าต้นทาง แล้วปิดผนึก ประทับตราลงบนประตูตู้ แล้วส่งตู้ดังกล่าวลงเรือ เมื่อเรือมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานท่าเรือและเจ้าหน้าที่สำรวจของจำเลยร่วมกันตรวจตู้คอนเทนเนอร์ ปรากฏว่าอยู่ในสภาพปิดผนึกประทับตราเรียบร้อย สินค้าอื่นที่บรรจุในตู้ก็มีอยู่ครบถ้วน เว้นแต่สินค้ารายพิพาท เนื่องจากเจ้าของสินค้ามิได้บรรจุสินค้ารายพิพาทลงในตู้คอนเทนเนอร์ บริษัทฟราต้าชิปปิ้งพีทีอี จำกัด เป็นผู้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งสินค้า โดยจดแจ้งรายการสินค้ารายพิพาทในใบตราส่งตามคำแจ้งของผู้ส่งสินค้าว่าได้บรรจุสินค้าลงในตู้คอนเทนเนอร์แล้ว จำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว จำเลยเกี่ยวข้องกับสินค้ารายพิพาทโดยเป็นเพียงตัวแทนของบริษัทฟราต้าชิปปิ้ง พีทีอี จำกัด ในการติดต่อธนาคารที่เกี่ยวข้อง การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร และผู้รับตราส่งเท่านั้น และใบตราส่งสินค้ารายพิพาทได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าตัวแทนของผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดชอบ และคดีของโจทก์ขาดอายุความตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ซึ่งใช้บังคับแก่คดีนี้ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 122,521 บาทกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์ตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นแรกว่าจำเลยเป็นผู้รับขนสินค้าพิพาททอดหลังที่สุดหรือไม่ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบตรงกันรับฟังได้ว่า บริษัทฟราต้าชิปปิ้ง พีทีอีจำกัด เป็นผู้ขนส่งสินค้ารายพิพาทโดยเรือ เนปจูน โทปาส จากประเทศสิงคโปร์ มายังประเทศไทย เมื่อเรือเนปจูน โทปาสมาถึงประเทศไทย บริษัทพาราชิปปิ้ง เอเยนซี่ส์ จำกัด เป็นผู้ร้องขอนำเรือเข้าท่าเรือตามเอกสารหมาย ล.3 ห้างหุ้นส่วนจำกัดนาวาเซอร์วิสเป็นผู้ขนสินค้าจากเรือเนปจูน โทปาส ลงมาไว้ที่โรงพักสินค้าตามเอกสารหมาย ล.4 บริษัทพาราชิปปิ้ง เอเยนซี่ส์จำกัด เป็นผู้ขออนุญาตเปิดตู้คอนเทนเนอร์ ตามเอกสารหมาย ล.5ซึ่งปรากฏว่าสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดสตาร์อีเล็คโทรนิคส์ไม่มีอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าว ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.6ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยมิได้เข้าร่วมทำการขนส่งหรือขนถ่ายสินค้าแต่ประการใด เพราะการขนส่งได้กระทำโดยเรือเนปจูน โทปาส เพียงทอดเดียวจากประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทย จำเลยจึงมิได้เป็นผู้ขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 8 รับขน อันเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงกับการรับขนทางทะเลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้แจ้งการมาถึงของสินค้าให้ผู้รับตราส่งทราบ ให้ผู้รับตราส่งนำใบตราส่งมามอบเพื่อรับใบเบิกสินค้าจากจำเลย และการกระทำของจำเลยจะได้ค่าตอบแทนจากบริษัทผู้ขนส่งก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นเพียงผู้รับจ้างหรือตัวแทนของบริษัทผู้ขนส่งในการติดต่อกับท่าเรือ เจ้าหน้าที่และผู้รับตราส่งเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้วเมื่อฟังว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ขนส่งทอดหลังที่สุด ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาข้ออื่น ๆ อีก”
พิพากษายืน