แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดระหว่างเวลาพระอาทิตย์ตกวันที่ 8 ถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นวันที่ 9 ทางพิจารณาได้ความว่าเกิดเหตุเมื่อวันเวลา 1 นาฬิกาของวันที่ 8 ถือว่าโจทก์ฟ้องผิดวัน ต้องตัดสินยกฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์เมื่อเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกวันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๔ ถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น วันที่ ๙ มกราคม ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นเวลากลางคืนตามกฎหมาย.
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยกระทำผิดในคืนวันที่ ๘ – ๙ มกราคมติดต่อกัน (คืนวันขึ้น ๑๑ ค่ำ รุ่งขึ้นเป็น ๑๒ ค่ำ) แต่พะยานโจทก์ปรากฏว่าเหตุเกิดในคืนวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันที่ ๗ มกราคม (รุ่งขึ้นเป็นวันที่ ๘ มกราคม) จึงเป็นอันว่าข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาต่างกับฟ้อง ลงโทาจำเลยไม่ได้ตามมาตรา ๑๙๒(๒) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิพากษายกฟ้อง.
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องว่า “เมื่อเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกวันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๔ ถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นเวลากลางคืน ฯลฯ จำเลยสมคบกันปล้นทรัพย์ ฯลฯ” ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าเกิดเหตุเวลา ๒ ยามเศษถึง ๑ นาฬิกาวันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๔ ศาลนี้จึงเห็นว่าวันที่ ๘ ก็คือเริ่มเวลา ๐ นาฬิกาไปสุดสิ้นลงเวลา ๒๔ นาฬิกา และวันที่ ๙ ก็เริ่ม ๐ นาฬิกา สุกสิ้นลง ๒๔ นาฬิกาเช่นเดียวกันการที่โจทก์อ้างว่าระหว่างพระอาทิตย์ตกวันที่ ๘ ซึ่งย่อมเป็นเวลา ๑๘ นาฬิกาของวันที่ ๘ นั้น ถึงพระอาทิตย์ขึ้นวันที่ ๙ ซึ่งย่อมเ็้นเวลา ๖ นาฬิกาของวันที่ ๙ นั้น จึงเป็นอันว่าโจทก์ฟ้องอ้างว่าระหว่างวันที่ ๘ เวลา ๑๘ นาฬิกา ถึงวันที่ ๙ เวลา ๖ นาฬิกา แต่เหตุเกิดเมื่อเวลา ๑ นาฬิกาวันที่ ๘ จึงถือได้ว่าโจทก์ฟ้องผิดเวลา จึงพิพากษายืนตามศาลล่าง.