แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสุ่มตรวจเมทแอมเฟตามีนที่บรรจุหีบห่อในอัตราร้อยละ 10 กระจายไปตามซองที่บรรจุอยู่ในมัด โดยไม่ได้นำปะปนกันเป็นวิธีการสุ่มตัวอย่าง ย่อมทำให้ตัวอย่างเม็ดวัตถุที่เก็บมาจากแต่ละซองสามารถเฉลี่ยเป็นตัวแทนของเม็ดวัตถุที่อยู่ในซองแต่ละซองในมัดดังกล่าวได้ทั้งหมด ตามหลักวิชาการวิจัยและสถิติ ดังนั้น ปริมาณสารเมทแอมเฟตามีนที่คำนวณได้ตามผลรายงานการตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีดังกล่าว จึงเป็นไปตามหลักวิชาการวิจัยและสถิติที่รับฟังได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 8 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 6 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและกระเป๋าเป้ของกลาง ส่วนรถยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 100,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 37 ปี 6 เดือน และปรับ 750,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า การตรวจเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วยการสุ่มตรวจจากตัวอย่างร้อยละ 10 ของวัตถุของกลาง 2,000 เม็ด พบสารเมทแอมเฟตามีนในวัตถุตัวอย่างที่ตรวจ จึงนำมาคำนวณหาสารเสพติดทั้ง 2,000 เม็ด ได้สารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 28.236 กรัม ของผู้เชี่ยวชาญจะรับฟังได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากบันทึกการจับกุม เอกสารการส่งและรับวัตถุของกลางระหว่างพนักงานสอบสวนกับเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รายงานผลการตรวจพิสูจน์ของกลางว่า วัตถุของกลาง 20,000 เม็ด นั้น มีการแบ่งแยกบรรจุตามสีของเม็ดวัตถุและสีของถุงพลาสติกที่บรรจุมาก่อน โดยวัตถุเม็ดสีส้มจำนวน 1,980 เม็ด และสีเขียว 20 เม็ด ของกลางในคดีนี้บรรจุซองพลาสติกสีน้ำเงิน 10 ซอง มัดรวมกันเป็น 1 มัด รัดด้วยหนังยาง ส่วนวัตถุเม็ดสีส้มอ่อนจำนวน 8,000 เม็ด บรรจุอยู่ในซองพลาสติกสีฟ้า แบ่งเป็น 4 มัด มัดละ 10 ซอง กับวัตถุเม็ดสีส้มออกน้ำตาลจำนวน 10,000 เม็ด บรรจุซองพลาสติกสีน้ำเงินแบ่งเป็น 5 มัด มัดละ 10 ซอง และนางสาวกัญญนันทน์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้สุ่มตรวจตามมัดที่บรรจุหีบห่อ ไม่ได้นำออกมาผสมปะปนกัน เมื่อได้ความดังนี้ การตรวจหาสารเมทแอมเฟตามีนจากมัดวัตถุเม็ดสีส้ม 1,980 เม็ด และเม็ดสีเขียว 20 เม็ด ซึ่งบรรจุรวมกันเป็น 1 มัด โดยนำเม็ดวัตถุออกจากมัดดังกล่าวร้อยละ 10 หรือ 200 เม็ด จาก 2,000 เม็ด ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างกระจายไปตามซองที่บรรจุอยู่ในมัดซองละ 20 เม็ด ย่อมทำให้ตัวอย่างเม็ดวัตถุที่เก็บมาจากแต่ละซองสามารถเฉลี่ยเป็นตัวแทนของเม็ดวัตถุที่อยู่ในซองแต่ละซองในมัดดังกล่าวได้ทั้งหมดตามหลักวิชาการวิจัยและสถิติ ที่เรียกตัวอย่างที่สุ่มออกมานั้นว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรที่วิจัย และข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางสาวกัญญนันท์ ผู้ตรวจพิสูจน์ว่า พยานได้นำตัวอย่างเม็ดวัตถุออกมาซองละประมาณ 20 เม็ดทุกซอง ทุกรายการ นำมาทำการตรวจสอบ มิได้กระจุกอยู่ที่ซองใดซองหนึ่งหรือมัดใดมัดหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น ปริมาณสารเมทแอมเฟตามีนที่คำนวณได้ตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์ จึงเป็นไปตามหลักวิชาการวิจัยและสถิติที่รับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) มาตรา 66 วรรคสาม นั้น ชอบด้วยผลแล้ว ฎีกาและฎีกาเพิ่มเติมในภายหลังของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน