คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 โดยเจตนาจะชดใช้หนี้ที่สามีจำเลยซื้อรถแทรกเตอร์ดังกล่าวให้แก่โจทก์แทนสามีจำเลย หาใช่เป็นการชำระหนี้ให้แก่ก. กรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของโจทก์เป็นการส่วนตัวไม่ และเมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลโดย ก. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่ง ก. มีฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ตามกฎหมาย ก. มีอำนาจทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 แทนโจทก์โดยไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากโจทก์อีก บันทึกข้อตกลงที่ ก. ทำแทนโจทก์จึงผูกพันจำเลย
สามีจำเลยซื้อรถแทรกเตอร์ 1 คัน จากบริษัทโจทก์ในราคา 1,400,000 บาท และชำระหนี้ไปบางส่วน คงค้างอยู่ 550,000 บาท การที่จำเลยยอมผูกพันเข้าชำระหนี้ดังกล่าวแทนสามีจำเลยกับโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.3 ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่ความกระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นการขืนใจลูกหนี้และไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มิใช่มีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34(1)
ก. ได้พูดขู่จำเลยให้ยอมทำบันทึกข้อตกลงว่าเป็นหนี้จำนวน 550,000 บาท แล้วจะไม่ดำเนินคดีเอาความผิดแก่ อ. เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายเกษม อริยะวุฒิพันธ์นางสาวจันทนา อริยะวุฒิพันธ์ เป็นกรรมการ กรรมการคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ทำการแทนโจทก์ได้ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2535 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวน 550,000 บาทโดยตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนเดือนละ 50,000 บาท รวม 11 เดือน จำเลยจะนำเช็คจำนวน 11 ฉบับ ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ภายในวันที่ 22 มกราคม 2535 ถึงกำหนดนัดจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์เลยเป็นการผิดสัญญา โจทก์เสียหาย ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 550,000 บาท นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 39,022 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 589,022 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 550,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยชำระเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เพราะหนี้ดังกล่าวขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) แล้วโจทก์ไม่ได้เรียกร้องให้นายอนันต์ รุจิวัฒน์ ชำระภายในกำหนดเวลา 2 ปี จำเลยไม่ได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นหนี้ประธาน จำเลยจึงไม่ต้องผูกพันชำระหนี้ให้แก่โจทก์นายเกษมอริยะวุฒิพันธ์ กรรมการบริษัทโจทก์ไม่ได้กระทำการแทนโจทก์หรือได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ การทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวของนายเกษมจึงไม่มีผลบังคับ จำเลยไม่ได้สมัครใจทำหนังสือรับสภาพหนี้ นายเกษมได้บังคับขู่เข็ญให้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้มูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เกิดจากการที่นายอนันต์กรรมการผู้จัดการบริษัทพิษณุโลกแทรกเตอร์ จำกัด ได้ซื้อรถแทรกเตอร์ไปจากโจทก์ 1 คัน ราคา 1,400,000 บาท และได้ชำระราคาให้โจทก์บางส่วนแล้ว คงค้างต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 85,105 บาท หลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้ แล้วนายอนันต์ได้ชำระเงินให้อีก 50,000 บาท นายอนันต์จึงต้องชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 35,105 บาท จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับเอาแก่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 27 มีนาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า นายเกษม อริยะวุฒิพันธ์ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 แทนโจทก์หรือไม่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทบริษัทจำกัด มีนายเกษมและนางสาวจันทนา อริยะวุฒิพันธ์ เป็นกรรมการ โดยกรรมการที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์คือ กรรมการคนหนึ่งลงชื่อและประทับตราของบริษัทโจทก์ แต่ในการทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 ไม่ได้ระบุว่านายเกษมกระทำการแทนโจทก์หรือได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นโดยขัดต่อข้อกำหนดในรายการจดทะเบียนมาเป็นประโยชน์ของตนอันจะเป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่จำเลยได้ ศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยรู้ดีว่าจำเลยทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 โดยเจตนาจะชดใช้หนี้ที่สามีจำเลยซื้อรถแทรกเตอร์ดังกล่าวให้แก่โจทก์แทนสามีจำเลยหาใช่เป็นการชำระหนี้ให้แก่นายเกษมเป็นการส่วนตัว ทั้งปรากฏจากคำเบิกความของนายเกษมอริยะวุฒิพันธ์ พยานโจทก์ว่า หลังจากทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 แล้วจำเลยได้โอนเงินชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้แก่โจทก์จำนวน 50,000 บาทซึ่งเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยรู้และยอมชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์บางส่วนแล้ว โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยนายเกษมเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งนายเกษมมีฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ตามกฎหมาย นายเกษมจึงมีอำนาจทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 แทนโจทก์โดยไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากโจทก์อีก บันทึกข้อตกลงที่นายเกษมทำแทนโจทก์จึงผูกพันจำเลย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า มูลหนี้ที่แท้จริงตามบันทึกข้อตกลงตามฟ้องมีจำนวนเท่าใด และหนี้ดังกล่าวขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 กับนายเกษมผู้แทนโจทก์โดยเจตนาจะชดใช้หนี้ให้โจทก์ จำเลยย่อมทราบจำนวนหนี้ที่นายอนันต์สามีจำเลยเป็นหนี้โจทก์ประกอบกับจำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบหักล้างว่าไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.3 จึงต้องฟังว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามเอกสารฉบับนี้แต่ได้ความจากนายเกษมที่เบิกความรับว่า หลังจากทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3แล้วจำเลยได้โอนเงินชำระหนี้ให้โจทก์จำนวน 50,000 บาท ดังนั้นจำเลยจึงยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่อีก 500,000 บาท ส่วนในปัญหาว่าหนี้ดังกล่าวขาดอายุความหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่า สามีจำเลยซื้อรถแทรกเตอร์ 1 คัน จากโจทก์ในราคา 1,400,000บาท และชำระหนี้ไปบางส่วน คงค้างอยู่ 550,000 บาท การที่จำเลยยอมผูกพันเข้าชำระหนี้ดังกล่าวแทนสามีจำเลยกับโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.3 ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่ความกระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นการขืนใจลูกหนี้และไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มิใช่มีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34(1) ตามที่จำเลยต่อสู้ คดีนี้จำเลยทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 กับนายเกษมผู้แทนโจทก์เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2535 โจทก์มาฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2536 จึงยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยทำบันทึกข้อตกลงโดยถูกขู่เข็ญหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยมีเพียงตัวจำเลยที่เบิกความว่า นายเกษมได้พูดขู่จำเลยให้ยอมทำบันทึกข้อตกลงว่าเป็นหนี้จำนวน 550,000 บาท แล้วจะไม่ดำเนินคดีเอาความผิดแก่นายอนันต์ เห็นว่า การที่นายเกษมกล่าวแก่จำเลยเช่นนี้เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

พิพากษายืน

Share