คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7119/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต นำเอาสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีที่ปรากฏอยู่แล้วไปขอรับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนายทะเบียนสิทธิบัตรได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรให้แก่จำเลย โดยมีข้อถือสิทธิว่า “1. การใช้เสื่อปูรองหรือหีบห่อสินค้าที่ลงระวางในเรือบรรทุกสินค้า เพื่อกั้นและดูดซับความชื้นโดยที่เสื่อนี้ทอขึ้นจาก (ก) ต้นธูปฤๅษี กกรังกา และ/หรือกกกลม ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่าโดยปราศจากการลอกโครงสร้างภายนอก (ข) เส้นเอ็นสังเคราะห์หรือเส้นด้าย” ข้อถือสิทธิดังกล่าวเป็นข้อถือสิทธิในการใช้เสื่อ ไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์เสื่อ และกรรมวิธีดังกล่าวไม่มีความใหม่โดยสิ้นเชิง ทั้งไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น จึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ แต่จำเลยกลับอาศัยสิทธิที่ได้มาโดยไม่สุจริตดังกล่าวไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์และพวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ความจริงแล้วโจทก์ใช้เสื่อกกกับคานไม้ไผ่รวกเพื่อระบายอากาศภายในระวางเรือ มิได้ใช้เสื่อกกปูรองหรือหีบห่อสินค้าที่ลงระวางในเรือบรรทุกสินค้า เพื่อกั้นหรือดูดซับความชื้น โจทก์ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำของจำเลย นับเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลย โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้พิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยออกจากสารบบทะเบียนสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา คำฟ้องของโจทก์จึงพอเข้าใจได้แล้วว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรของจำเลยได้รับการจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะข้อถือสิทธิดังกล่าวเป็นข้อถือสิทธิในการใช้เสื่อทั้งไม่มีความใหม่และไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น กับขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลย ถือว่าคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแล้ว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 และมาตรา 30 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้ให้นิยามคำว่า “สิทธิบัตร” และ “การประดิษฐ์” ทั้งได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรไว้ในมาตรา 36 แต่ไม่ได้บัญญัติถึงการให้สิทธิบัตรในส่วนของการใช้ใหม่ของการประดิษฐ์ที่รู้จักอยู่แล้วไว้เป็นพิเศษต่างหากโดยชัดแจ้ง และไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรการใช้ในลักษณะตามฟ้อง กรณีไม่อาจแปลความพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไปได้เช่นนั้น ดังนั้น สิทธิบัตรของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการออกให้แก่การใช้ใหม่ (New use patent) เพราะไม่มีบทกฎหมายรับรอง
ต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษี หรือกกชนิดอื่น ๆ เป็นวัชพืชที่ใช้ทดแทนกับวัสดุอื่นเพื่อใช้ในการทอเสื่อได้อยู่แล้ว เสื่อที่ทอขึ้นจากวัสดุดังกล่าวมีหรือใช้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทยก่อนวันที่จำเลยขอรับสิทธิบัตร เพราะฉะนั้นการที่จำเลยใช้ต้นกกช้าง หรือต้นธูปฤๅษีหรือกกชนิดอื่น ๆ ตามที่ปรากฏในข้อถือสิทธิมาทอเสื่อจึงไม่ทำให้เสื่อดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จำเลยย่อมไม่อาจได้รับสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์เสื่อ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบธุรกิจเป็นผู้รับเหมา หรือผู้รับจัดการบรรทุก และ/หรือบรรจุสินค้าในระวางเรือหรือในตู้สินค้า ตลอดจนหาวัสดุในการจัดวาง เรียง ปู หรือทับในระวางเรือสินค้า เป็นต้นว่า การใช้เสื่อกกหรือเสื่อรำแพนปูรองพื้นระวางเรือสินค้าตามลักษณะของงานหรือสินค้า จึงมีการผลิตเสื่อกกออกมาจำหน่ายเป็นที่แพร่หลายทั่วไปเป็นเวลานานแล้ว เกี่ยวกับคดีนี้จำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต นำเอาสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีที่ปรากฏอยู่แล้วไปขอรับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนายทะเบียนสิทธิบัตรได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรให้แก่จำเลยโดยมีข้อถือสิทธิว่า “1. การใช้เสื่อปูรองหรือหีบห่อสินค้าที่ลงระวางในเรือบรรทุกสินค้า เพื่อกั้นและดูดซับความชื้นโดยที่เสื่อนี้ทอขึ้นจาก (ก) ต้นธูปฤๅษีกกรังกา และ/หรือกกกลมชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่าโดยปราศจากการลอกโครงสร้างภายนอก (ข) เส้นเอ็นสังเคราะห์หรือเส้นด้าย” ข้อถือสิทธิดังกล่าวเป็นข้อถือสิทธิในการใช้เสื่อ ไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์เสื่อแต่อย่างใด และกรรมวิธีดังกล่าวไม่มีความใหม่โดยสิ้นเชิง ทั้งไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ แต่จำเลยกลับอาศัยสิทธิที่ได้มาโดยไม่สุจริตดังกล่าวไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์และพวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ความจริงแล้วโจทก์ใช้เสื่อกกกับคานไม้ไผ่รวกเพื่อระบายอากาศภายในระวางเรือ หาได้ใช้เสื่อกกปูรองหรือหีบห่อสินค้าที่ลงระวางในเรือบรรทุกสินค้าเพื่อกั้นหรือดูดซับความชื้นแต่อย่างใดโดยใช้เพื่อการระบายอากาศภายในระวางเรือ ป้องกันสิ่งสกปรก และป้องกันเสี้ยนหนามหรือกิ่งไม้เกาะเกี่ยวกระสอบหรือภาชนะหีบห่อสินค้าฉีกขาดเสียหาย โจทก์ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำของจำเลย นับเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลย ขอให้พิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยทะเบียนหมายเลขที่ 8871 ออกจากสารบบทะเบียนสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยประกอบธุรกิจด้านบริการให้กับเรือในประเทศและต่างประเทศ ใช้ชื่อกิจการว่าบริษัทแบมบู อินเตอร์ เวิธ์คส์ แอน ซับพลาย จำกัด โดยบิดาของจำเลยคือ นายเตียงควง มีความชำนาญด้านการบรรทุกและขนถ่ายสินค้าทางเรือเป็นระยะเวลานานกว่า 50 ปี ปัจจุบันจำเลยรับช่วงกิจการในการให้บริการด้านการทำความสะอาดระวางของเรือเดินสมุทรต่างประเทศก่อนจะบรรทุกสินค้า กับรับบรรจุหีบห่อ ลังไม้ ลังเหล็กและรับงานโครงการต่าง ๆ นอกจากนี้ จำเลยเป็นผู้เริ่มต้นนำเสื่อกกมาใช้เพื่อปูรองสินค้าเป็นรายแรก ซึ่งแต่เดิมใช้เสื่อรำแพน (เสื่อไม้ไผ่) กับไม้รวกปูรอง โดยในช่วงปี 2538 จำเลยคิดค้นและใช้ต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษีมาทอเสื่อ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 จำเลยจึงได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เสื่อกกของจำเลย ซึ่งได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หาใช่งานที่ปรากฏอยู่แล้วตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เรือที่ต้องวิ่งระยะทางไกลเดินทางเป็นเวลานานต้องใช้วัสดุปูรองสินค้าที่เป็นเสื่อรำแพนหรือเสื่อกกเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า สิทธิบัตรหมายเลขที่ 8871 ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนสิทธิบัตรหมายเลขที่ 8871 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับจัดหา ซื้อขายวัสดุ และ/หรืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับผูกมัดรัดตรึง ค้ำยัน เรียงสินค้า จัดวางสินค้าในเรือเดินทะเล รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่กองเรือจำเลยได้รับสิทธิบัตร ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่โจทก์และบุคคลอื่นในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรของจำเลย ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.24
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เสื่อชนิดประเภทตามสิทธิบัตรของจำเลยได้เคยมีการใช้ การประดิษฐ์ หรือนำมาใช้เฉพาะที่เฉพาะกรณีตามสิทธิบัตรแล้วเมื่อใด หรือไม่อย่างไร และไม่ได้โต้แย้งคุณสมบัติของเสื่อชนิดประเภทตามสิทธิบัตรของจำเลย เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต นำเอาสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีที่ปรากฏอยู่แล้วไปขอรับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนายทะเบียนสิทธิบัตรได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรให้แก่จำเลย โดยมีข้อถือสิทธิว่า “1. การใช้เสื่อปูรองหรือหีบห่อสินค้าที่ลงระวางในเรือบรรทุกสินค้า เพื่อกั้นและดูดซับความชื้นโดยที่เสื่อนี้ทอขึ้นจาก (ก) ต้นธูปฤๅษี กกรังกา และ/หรือกกกลม ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่าโดยปราศจากการลอกโครงสร้างภายนอก (ข) เส้นเอ็นสังเคราะห์หรือเส้นด้าย” ข้อถือสิทธิดังกล่าวเป็นข้อถือสิทธิในการใช้เสื่อ ไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์เสื่อแต่อย่างใด และกรรมวิธีดังกล่าวไม่มีความใหม่โดยสิ้นเชิง ทั้งไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ แต่จำเลยกลับอาศัยสิทธิที่ได้มาโดยไม่สุจริตดังกล่าวไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์และพวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ความจริงแล้วโจทก์ใช้เสื่อกกกับคานไม้ไผ่รวกเพื่อระบายอากาศภายในระวางเรือหาได้ใช้เสื่อกกปูรองหรือหีบห่อสินค้าที่ลงระวางในเรือบรรทุกสินค้าเพื่อกั้นหรือดูดซับความชื้นแต่อย่างใด โจทก์ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำของจำเลย นับเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลย โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้พิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยทะเบียนหมายเลขที่ 8871 ออกจากสารบบทะเบียนสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา คำฟ้องของโจทก์จึงพอเข้าใจได้แล้วว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรของจำเลยได้รับการจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะข้อถือสิทธิดังกล่าวเป็นข้อถือสิทธิในการใช้เสื่อ ทั้งไม่มีความใหม่และไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นกับขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลย ถือว่าคำฟ้องของโจทก์นี้ได้แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับแล้ว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 และมาตรา 30 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์ไม่จำต้องบรรยายข้อความอื่นตามที่จำเลยอุทธรณ์ เพราะเป็นรายละเอียดที่นำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีในทำนองว่า จำเลยเป็นผู้คิดค้นและใช้ต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษีมาทอเสื่อ ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2541 จำเลยได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เสื่อกกของจำเลย ซึ่งได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หาใช่งานที่ปรากฏอยู่แล้วตามที่โจทก์กล่าวอ้างแสดงให้เห็นว่าจำเลยสามารถเข้าใจฟ้องกับให้การต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ย่อมแสดงให้เห็นอยู่ว่าฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการที่สองมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่า หนังสือรับรองของโจทก์ไม่ปรากฏชื่อนายชัยวัฒน์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ การร่วมลงลายมือชื่อจึงไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า โจทก์แก้ไขคำฟ้องว่า บริษัทชิดลม มารีน เซอร์วิสเซส แอนด์ ซัพพลายส์ จำกัด (โจทก์) โดยนายชำนาญ กรรมการผู้มีอำนาจ แสดงว่า นายชำนาญ สามารถกระทำการแทนโจทก์ได้ เมื่อนายชำนาญ ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์ในการตั้งแต่งทนายความ และทนายโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องของโจทก์ถูกต้องแล้ว โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แม้จะปรากฏว่าในใบแต่งทนายความดังกล่าวมีนายชัยวัฒน์ ไว้ด้วย ก็หาทำให้ความสมบูรณ์ในการฟ้องคดีนี้ของโจทก์ดังกล่าวต้องเสียไปแต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยไม่ได้แก้ไขคำให้การหรืออุทธรณ์คดีในประเด็นอื่นที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์อีก จึงไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า สิทธิบัตรของจำเลยออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่า สิทธิบัตรของจำเลยออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรพิจารณาเสียก่อนว่า จำเลยได้รับสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ในลักษณะใด โดยจำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่าขอบเขตของการคุ้มครอง (ข้อถือสิทธิ) ตามสิทธิบัตรของจำเลยนั้นจำเลยขอรับความคุ้มครองในเรื่องของผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี และการใช้สิ่งประดิษฐ์ แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแล้วจำกัดขอบเขตของการคุ้มครองตามสิทธิบัตรของจำเลยไว้เพียงเรื่องของการใช้ผลิตภัณฑ์ ในขณะที่โจทก์กล่าวอ้างในทำนองว่าสิทธิบัตรของจำเลยเป็นสิทธิบัตรเพื่อการใช้ ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 เห็นว่า ในเรื่องของสิทธิบัตรการใช้ใหม่ (New use patent) นั้น ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า “สิทธิบัตร” คือ หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ “การประดิษฐ์” คือ การคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่ หรือการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี ทั้งได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรไว้ในมาตรา 36 ว่า ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ หมายถึง สิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร (2) ในกรณีสิทธิบัตรกรรมวิธี หมายถึง สิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร จะเห็นได้ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการให้สิทธิบัตรในส่วนของการใช้ใหม่ของการประดิษฐ์ที่รู้จักอยู่แล้วไว้เป็นพิเศษต่างหากโดยชัดแจ้ง ทั้งไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรการใช้ในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีไม่อาจแปลความพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไปได้เช่นนั้นตามที่นางสาวดุษณีย์ พยานโจทก์ซึ่งรับราชการสังกัดกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์และเป็นผู้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรได้เบิกความว่า การประดิษฐ์แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีหรือวิธีการหรือการเตรียม และการใช้ อนึ่ง กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ข้อ 5 นั้น เป็นการระบุถึงข้อถือสิทธิว่า คำขอรับสิทธิบัตรที่ระบุข้อถือสิทธิดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์อย่างเดียว (1) ข้อถือสิทธิหลักที่ระบุผลิตภัณฑ์ที่ขอรับความคุ้มครอง และระบุกรรมวิธีในการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นไว้ในข้อถือสิทธิหลักข้ออื่น (2) ข้อถือสิทธิหลักที่ระบุถึงกรรมวิธีใดที่ขอรับความคุ้มครอง และระบุอุปกรณ์และหรือเครื่องมือที่ใช้กับกรรมวิธีนั้น ยังไม่อาจถือว่า ข้อความตามข้อ 5 (1) ข้างต้นหมายความว่า การประดิษฐ์แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนั้น สิทธิบัตรของจำเลยจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการออกให้แก่การใช้ใหม่ (New use patent) เพราะไม่มีบทกฎหมายรับรอง
ส่วนปัญหาว่า สิทธิบัตรของจำเลยดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครองในเรื่องของสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธี หรือไม่ เพราะตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อ 5.2 ระบุไว้ทำนองว่า การประดิษฐ์ของจำเลยมีกรรมวิธีที่แตกต่างจากการประดิษฐ์เสื่อที่มีอยู่ในปัจจุบันปัญหานี้โจทก์มีนางสาวดุษณีย์ ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรมาเบิกความเป็นพยานประกอบเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ยืนยันว่า การประดิษฐ์ของจำเลยไม่อาจรับจดทะเบียนในส่วนของผลิตภัณฑ์เสื่อและวิธีการประดิษฐ์เสื่อ เพราะไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น กับมีนายนิรันดร์ นายชัยวัฒน์ นายชำนาญ และนายชาญวิทย์ มาเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า เสื่อกกที่ใช้ในการปูรองระวางเรือสินค้านั้นมีมาเป็นเวลานานแล้ว เช่นตามที่ปรากฏในหนังสือการพาณิชย์นาวีโดยพลเรือโทหลวงชาญชยศึก (ชื่น) เอกสารหมาย จ.9 ส่วนจำเลยมีตัวจำเลย นายเสน่ห์ นางน้อย และนายเริงชัย มาเบิกความเป็นพยานในทำนองว่า จำเลยเป็นผู้คิดค้นและใช้ต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษีมาทอเสื่อ เห็นว่า ในกรณีของสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์นั้น แม้จำเลยจะนำสืบในทำนองว่า จำเลยเป็นผู้คิดค้นและใช้ต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษีมาทอเสื่อ แต่ตามสิทธิบัตรของจำเลยเอกสารหมาย จ.1 ในข้อถือสิทธิระบุว่าเสื่อทอขึ้นจากต้นธูปฤๅษี กกสามเหลี่ยม หรือกกรังกา และหรือกกกลม ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่า โดยปราศจากการลอกโครงสร้างภายนอก จึงแสดงว่าจำเลยขอรับสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ของตนคือ การใช้ต้นธูปฤๅษี กกสามเหลี่ยม หรือกกรังกา และหรือกกกลม ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่าในการทอเสื่อ ซึ่งเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่บุคคลอื่นจะใช้วัสดุดังกล่าวในการทอเสื่อไม่ได้ แต่ในทางกลับกัน การที่จำเลยระบุข้อถือสิทธิในลักษณะเช่นนี้ หากเคยมีการทอเสื่อโดยใช้วัสดุเหล่านี้มาก่อนเท่ากับว่าการประดิษฐ์ของจำเลยเคยมีอยู่แล้วและไม่มีความใหม่ ซึ่งตามพยานหลักฐานของโจทก์แสดงว่า ผลิตภัณฑ์เสื่อมีมาเป็นเวลานานแล้ว โดยมีการใช้ต้นกกในการทอเสื่อดังกล่าว รวมถึงต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษี ใบผือ ต้นกกสามเหลี่ยม และกกไตหย่าหรือกกกลมด้วย นอกจากนี้นางสาวดุษณีย์ เบิกความด้วยว่า ต้นกกที่ต่างกันไม่เป็นคุณสมบัติที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ เมื่อพิจารณาสิทธิบัตรของจำเลยเอกสารหมาย จ.1 ในส่วนของรายละเอียดของการประดิษฐ์ข้อ 2 เรื่อง ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์โดยย่อ ก็ระบุว่า “ต้นธูปฤๅษี” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ผือ” หรือ “กกช้าง” ซึ่งต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษี หรือกกชนิดอื่น ๆ นั้นเป็นวัชพืชที่ใช้ทดแทนกับวัสดุอื่นเพื่อใช้ในการทอเสื่อได้อยู่แล้ว ทำให้น่าเชื่อว่าเสื่อที่ทอขึ้นจากวัสดุดังกล่าวมีหรือใช้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทยก่อนวันที่จำเลยขอรับสิทธิบัตร เพราะฉะนั้น การที่จำเลยใช้ต้นกกช้าง หรือต้นธูปฤๅษีหรือกกชนิดอื่น ๆ ตามที่ปรากฏในข้อถือสิทธิมาทอเสื่อจึงไม่ทำให้เสื่อดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จำเลยย่อมไม่อาจได้รับสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์เสื่อ
สำหรับกรณีสิทธิบัตรกรรมวิธีนั้น อาจพิจารณาว่าเป็นกรรมวิธีในการกั้นและดูดซับความชื่นโดยการใช้ผลิตภัณฑ์เสื่อของจำเลย อย่างไรก็ดี โจทก์นำสืบพยานหลักฐานต่าง ๆ ในทำนองว่า มีการใช้เสื่อกกปูรองระวางเรือสินค้าเพื่อเป็นการระบายอากาศ และสิทธิบัตรของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งข้อถือสิทธิตามที่ระบุไว้ในสิทธิบัตรของจำเลย เอกสารหมาย จ.1 นั้น ก็ไม่มีข้อความเกี่ยวกับกรรมวิธีในการผลิตเสื่อ หรือกรรมวิธีในการกั้นและดูดซับความชื้นอันเป็นลักษณะของการประดิษฐ์ไว้เลย จึงไม่ปรากฏว่าจำเลยจะได้รับความคุ้มครองในลักษณะของสิทธิบัตรกรรมวิธีได้อย่างไร นอกจากนั้น ตามสิทธิบัตรของจำเลยเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 4 เรื่อง การเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับการผลิตเสื่อ ก็ไม่ปรากฏว่ามีขั้นตอนของกรรมวิธีที่ใหม่เช่นใด ทางนำสืบของจำเลยเองก็เห็นว่า จำเลยนำต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษีมาใช้ในการทอเสื่อนั้นโดยไม่ได้มีวิธีการพิเศษอื่นใด กล่าวคือ นายเสน่ห์ เบิกความว่า เดิมชาวบ้านทอเสื่อจากต้นกกทั้งต้น แต่จำเลยแนะนำให้ผ่าต้นกกเป็น 2 ส่วน จะทำให้ได้เสื่อเพิ่มขึ้น และตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าการผ่าต้นกกทำได้ง่ายต้นกกทั้งต้นจะทอเสื่อได้ง่ายกว่าต้นกกที่ผ่าเป็น 2 ส่วน ในการทอเสื่อจะต้องนำต้นกกไปตากแห้งก่อน หากเสื่อเปียกน้ำพยานคิดว่าเสื่อทั้งสองแบบเปียกน้ำได้พอกัน นางน้อย เบิกความว่า เสื่อแบบของจำเลยทอได้ง่ายและเร็วกว่า แต่ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พยานไม่เคยทอเสื่อ เพียงซื้อมาขายไปเท่านั้น นายเริงชัย เบิกความว่าเสื่อกกของจำเลยดีกว่าเสื่อไม้ไผ่เพราะได้พื้นที่มากกว่า ส่วนจำเลยได้เบิกความถึงรายละเอียดในการทำเสื่อรำแพน การทอเสื่อกกกลม การทอเสื่อกกสามเหลี่ยม และการทอเสื่อจากต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษี ซึ่งมีเครื่องทอเสื่อแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า การผึ่งแดดเพื่อให้ต้นกกแห้งไม่มีเทคนิคหรือวิธีการพิเศษใด ๆ การทอเสื่อของชาวบ้านนอกจากการผ่าครึ่งและการลดจำนวนเส้นเอ็นแล้ว ไม่มีวิธีการใด ๆ เป็นพิเศษ คงเหมือนวิธีการดั้งเดิมที่ชาวบ้านเคยทอเสื่อกันมา ต้นกกขึ้นโดยธรรมชาติไม่มีการนำไปชุบน้ำยาพิเศษ การทอเสื่อมีเทคนิคพิเศษตามที่จำเลยแนะนำชาวบ้านคือ ทำให้ยาวขึ้นเพื่อให้ได้เนื้อเสื่อต่อผืนมากขึ้น จึงไม่ปรากฏว่าการทอเสื่อของจำเลยมีความใหม่อย่างใด ส่วนเรื่องคุณสมบัติในการกั้นและดูดซับความชื้นที่จำเลยกล่าวอ้างนั้น จำเลยเบิกความว่า จำเลยนำต้นกกดังกล่าวไปตากแดดใช้เวลา 3 ถึง 4 วัน จนแห้งและเหลือง แล้วทำการทดลองโดยการใช้ขวดแก้วพร้อมฝาปิดสนิท 2 ใบ ใบหนึ่งนำต้นกกดังกล่าวตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไม่ลอกโครงสร้างภายในออกใส่ไว้ ส่วนอีกใบหนึ่งเป็นขวดเปล่า ปิดฝาให้สนิททั้งสองขวด นำไปใส่ตู้กระจกโดยมีของหนักทับไว้ และเทน้ำเย็นลงไปในตู้กระจก ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง พบว่าขวดแก้วเปล่าจะมีลักษณะมัวเห็นเป็นหยดน้ำเกาะตามผนังขวด สำหรับขวดที่ใส่ต้นกกดังกล่าวไว้มีความใสสว่างไม่มีหยดน้ำเกาะตามผนังขวด ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.47 และจำเลยได้เคยให้กรมวิทยาศาสตร์บริการทำการวิเคราะห์ตรวจสอบปรากฏตามเอกสารหลาย ล.50 เห็นว่า การทดลองดังกล่าวของจำเลยเป็นการนำต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษีในลักษณะที่เป็นวัตถุดิบตามธรรมชาติไปทำการทดลอง โดยไม่มีรายละเอียดในขั้นตอนใดที่เป็นพิเศษ จึงน่าจะเป็นคุณสมบัติของต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษีที่จำเลยค้นพบมากกว่าจะเป็นสิ่งที่จำเลยประดิษฐ์คิดค้นขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิทธิบัตรของจำเลยจึงไม่อาจพิจารณาให้ความคุ้มครองในเรื่องของสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share