คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14206/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และขอให้อายัดเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินค่าจ้างและขอคืนเงินให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่เป็นคู่ความ จึงพอแปลได้ว่า เป็นกรณีที่ผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้รับหมายยึด หมายอายัด ร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 261 โดยความในวรรคหนึ่งของมาตรา 261 ได้บัญญัติให้นำมาตรา 312 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งหมายความว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับคำสั่งอายัดย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่ได้มีคำสั่งเรียกร้องเอาแก่ตนได้ตามมาตรา 312 ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี บทบัญญัติในมาตรา 312 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวด 2 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ที่ในลักษณะ 2 วิธียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ และการจ่ายเงินนี้ นอกจากให้สิทธิผู้ร้องที่ถูกบังคับตามสิทธิเรียกร้องชอบที่จะปฏิเสธหรือโต้แย้งสิทธิเรียกร้องที่เรียกเอาแก่ตนได้แล้ว ยังต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 311 วรรคสาม ที่บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องได้ แม้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้อันมีต่อบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อจำกัดหรือมีเงื่อนไขหรือไม่ มาใช้บังคับด้วย การที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดโดยมีข้อโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนหนี้ให้แก่ธนาคารแล้ว ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ธนาคารตามข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องนั้น จึงไม่อาจรับฟัง ผู้ร้องในฐานะบุคคลภายนอกผู้ได้รับหมายอายัดย่อมไม่อาจขอให้เพิกถอนหมายคำสั่งอายัดชั่วคราวและขอคืนเงินที่อายัดได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองผิดข้อตกลงการเข้าหุ้นส่วนขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในกรณีฉุกเฉิน โดยขอให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 รวม 3 บัญชี และอายัดเงินค่าจ้างซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากผู้ร้องตามสัญญาจ้างเลขที่ บก.1/2548 บก.3/2548 และ สด.6/2548 จำนวน 4,400,000 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 รวม 3 บัญชี และอายัดเงินค่าจ้างซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากแขวงการทางหนองคายที่ 2 (บึงกาฬ) ตามสัญญาเลขที่ บก.1/2548 และ บก.3/2548 กับแขวงการทางสกลนครที่ 2 (สว่างแดนดิน) สัญญาเลขที่ 6/2548 (ที่ถูก น่าจะเป็น สด.6/2548) จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้คืนเงินแก่ผู้ร้องเพื่อดำเนินการต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ)
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งหมายอายัดชั่วคราว และต้องคืนเงินที่อายัดให้แก่ผู้ร้องหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระหนี้ค่าจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากผู้ร้อง โดยจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิในการรับเงินตามสัญญาจ้างให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาหนองบัวลำภู แล้ว ผู้ร้องย่อมต้องผูกพันตามที่จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ธนาคาร เพราะเจ้าหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องคือจำเลยที่ 1 ได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือมายังผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้แล้ว นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และขอให้อายัดเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากแขวงการทาง กรมทางหลวง ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินค่าจ้างและขอคืนเงินให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่เป็นคู่ความ จึงพอแปลได้ว่า เป็นกรณีที่ผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้รับหมายยึด หมายอายัด ร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 261 โดยความในวรรคหนึ่งของมาตรา 261 ได้บัญญัติให้นำมาตรา 312 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งหมายความว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับคำสั่งอายัดย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่ได้มีคำสั่งเรียกร้องเอาแก่ตนได้ตามมาตรา 312 ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี บทบัญญัติในมาตรา 312 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวด 2 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ที่ในลักษณะ 2 วิธียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ และการจ่ายเงินนี้ นอกจากให้สิทธิผู้ร้องที่ถูกบังคับตามสิทธิเรียกร้องชอบที่จะปฏิเสธหรือโต้แย้งสิทธิเรียกร้องที่เรียกเอาแก่ตนได้แล้ว ยังต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 311 วรรคสาม ที่บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องได้ แม้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้อันมีต่อบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อจำกัดหรือมีเงื่อนไขหรือไม่ มาใช้บังคับด้วย ดังนั้น การที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดโดยมีข้อโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนหนี้ให้แก่ธนาคารแล้ว ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ธนาคารตามข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องนั้น จึงไม่อาจรับฟัง ผู้ร้องในฐานะบุคคลภายนอกผู้ได้รับหมายอายัดย่อมไม่อาจขอให้เพิกถอนหมายคำสั่งอายัดชั่วคราวและขอคืนเงินที่อายัดได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share