คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7118/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กฎหมายวิธีสบัญญัติส่วนที่มีการแก้ไข เมื่อมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที ดังนั้น แม้ขณะที่จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาด คดีของจำเลยจะไม่ต้องห้ามฎีกา แต่ขณะที่จำเลยยื่นฎีกาได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ จำเลยก็ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีกต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 10,891,899.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,686,152.49 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวไปในราคา 7,150,000 บาท

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในราคาที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพทรัพย์ ทำให้จำเลยที่ 2เสียหายขาดเงินที่ควรได้เป็นจำนวน 4,850,000 บาท ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาด

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอ้างว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์มีจำนวนต่ำเกินสมควรตามบทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542 จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาวันที่ 15 กันยายน 2543 หลังจากบทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ มีผลบังคับใช้แล้ว คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงอยู่ภายใต้บังคับของวรรคสี่แห่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ซึ่งบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้เป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2และศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ย่อมเป็นที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 2 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 2

Share