คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7115/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยทั้งสองแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน มิได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกถ้อยคำ แต่การดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน ก็เป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากบันทึกถ้อยคำ ในเมื่อทั้งหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและบันทึกถ้อยคำต่างเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารทั้งหมดที่เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเช่นนี้ คำว่าสัญญาซื้อขายที่โจทก์อ้างในฟ้องจึงย่อมมีความหมายอยู่ในตัวถึงเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบันทึกถ้อยคำด้วย เมื่อการให้ถ้อยคำในบันทึกถ้อยคำเป็นการให้ถ้อยคำในฐานะผู้ซื้อที่ดินซึ่งเป็นบริษัทจำกัด โดยในบันทึกถ้อยคำดังกล่าวระบุว่าประสงค์จะซื้อที่ดินและจดแจ้งด้วยว่าได้ยื่นเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งรายงานการประชุมของคณะกรรมการบริษัท การให้ถ้อยคำดังกล่าวย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าการดำเนินการของบริษัทได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทตามเอกสารที่ยื่นนั่นเอง ดังนั้นแม้ข้อความในบันทึกถ้อยคำจะมิได้มีข้อความระบุการเข้าประชุมของโจทก์ก็ถือได้ว่ามีการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและมีการแจ้งข้อความให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จแล้ว
ความมุ่งหมายของความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารคือ เพื่อคุ้มครองความเด็ดขาดของอำนาจรัฐ แม้กฎหมายกำหนดให้ถือเอาความเสียหายที่อาจมีแก่ผู้อื่นเป็นองค์ประกอบของความผิดอยู่ด้วย แต่ความเสียหายดังกล่าวก็ต้องเป็นความเสียหายในตัวเองจากการแจ้งความเท็จหรือจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จนั้น มิใช่ความเสียหายอื่นซึ่งอยู่ห่างไกล โจทก์ในฐานะเป็นบุคคลที่ถูกจำเลยทั้งสองอ้างต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โจทก์ย่อมเสียหายอยู่ในตัวแล้ว โดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยทั้งสองมีวิธีอื่นที่จะให้ได้มาซึ่งมติของคณะกรรมการบริษัทโดยไม่ต้องปลอมรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทหรือไม่ และโจทก์จะได้รับผลประโยชน์จากการกระทำของจำเลยทั้งสองในรูปของกำไรหรือการลดภาระภาษีหรือไม่ หาเป็นข้อสำคัญแต่ประการใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 267 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุกคนละ 5 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน มิได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกถ้อยคำ แต่การดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินก็เป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากบันทึกถ้อยคำ ในเมื่อทั้งหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน และบันทึกถ้อยคำต่างเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารทั้งหมดที่เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเช่นนี้ คำว่าสัญญาซื้อขายที่โจทก์อ้างในฟ้องจึงย่อมมีความหมายอยู่ในตัวถึงเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบันทึกถ้อยคำด้วย เมื่อการให้ถ้อยคำในบันทึกถ้อยคำเป็นการให้ถ้อยคำในฐานะผู้ซื้อที่ดินซึ่งเป็นบริษัทจำกัด โดยในบันทึกถ้อยคำดังกล่าวระบุว่าประสงค์จะซื้อที่ดินและจดแจ้งด้วยว่าได้ยื่นเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งรายงานการประชุมของคณะกรรมการบริษัท การให้ถ้อยคำดังกล่าวย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าการดำเนินการของบริษัทได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทตามเอกสารที่ยื่นนั่นเอง ดังนั้นแม้ข้อความในบันทึกถ้อยคำ จะมิได้มีข้อความระบุการเข้าประชุมของโจทก์ ก็ถือได้ว่ามีการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและมีการแจ้งข้อความให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จแล้ว
จำเลยทั้งสอง ฎีกาต่อไปว่า โจทก์ไม่เสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง เนื่องจากจำเลยทั้งสองมีเสียงข้างมากในองค์ประชุมของทั้งที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท อีกทั้งการขายที่ดินของบริษัททิพ อินดัสตรีย์ จำกัด ให้แก่บริษัทไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม จำกัด โดยผ่านบริษัทเหมืองทิพ จำกัด กลับจะเป็นประโยชน์แก่โจทก์เนื่องจากทำให้โจทก์ได้รับกำไรมากยิ่งขึ้นและเป็นการลดภาระทางภาษีซึ่งจะตกถึงโจทก์ด้วย ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ความมุ่งหมายของความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารคือเพื่อคุ้มครองความเด็ดขาดของอำนาจรัฐ แม้กฎหมายกำหนดให้ถือเอาความเสียหายที่อาจมีแก่ผู้อื่นเป็นองค์ประกอบของความผิดอยู่ด้วย แต่ความเสียหายดังกล่าวก็ต้องเป็นความเสียหายในตัวเองจากการแจ้งความเท็จหรือจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จนั้น มิใช่ความเสียหายอื่นซึ่งอยู่ห่างไกล สำหรับการกระทำของจำเลยทั้งสอง โจทก์ในฐานะเป็นบุคคลที่ถูกจำเลยทั้งสอง อ้างต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โจทก์ย่อมเสียหายอยู่ในตัวแล้ว โดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยทั้งสองมีวิธีอื่นอยู่แล้วที่จะให้ได้มาซึ่งมติของคณะกรรมการบริษัททั้งสองโดยไม่ต้องปลอมรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัททั้งสองหรือไม่ อีกทั้งยังเห็นได้อีกว่า ข้อที่ว่าโจทก์จะได้รับผลประโยชน์จากการกระทำของจำเลยทั้งสอง ในรูปของกำไรหรือการลดภาระภาษีหรือไม่หาเป็นข้อสำคัญแต่ประการใดไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยทั้งสอง มีกำหนดห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.

Share