แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 5 ตาม พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับแก่บรรดาเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงินเท่านั้น โจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินที่ใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้เงินตามตั๋วแลกเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ตั๋วแลกเงินพึงใช้เงินในวันถึงกำหนด ซึ่งเป็นวันผิดนัดชำระหนี้ไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์จนเสร็จสิ้น เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน โจทก์จึงหาใช่เจ้าหนี้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวไม่ จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกระงับการดำเนินกิจการตาม พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าว เพื่อชำระดอกเบี้ยเพียงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 อันเป็นวันที่ พ.ร.ก. ดังกล่าวมีผลบังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๑๕๖,๐๕๓,๔๗๙.๔๕ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๑) ต้องไม่เกิน ๒๐,๐๕๓,๔๗๙.๔๕ บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดค่าทนายความ ๓๐๐,๐๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๑๕๐,๐๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินจำนวนเงิน ๑๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่หรือตามคำสั่งของบริษัท ม. ผู้รับเงิน ถึงกำหนดการใช้เงินวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๐ ต่อมาบริษัท ม. ได้สลักหลังตั๋วแลกเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ สลักหลังตั๋วแลกเงินแล้วนำไปขายลดให้แก่โจทก์ เมื่อถึงกำหนดใช้เงินโจทก์ ผู้ทรงนำตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปยื่นแก่จำเลยที่ ๑ เพื่อให้ใช้เงิน แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ใช้เงิน โจทก์ผู้ทรงจึงใช้สิทธิไล่เบี้ยฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังให้รับผิดต่อโจทก์ โดยขณะนั้นจำเลยที่ ๒ ถูกองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ มีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๒ ได้เพียงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ตามมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ หรือไม่ ซึ่งฎีกาในข้อนี้เป็นข้อที่จำเลยที่ ๒ มิได้ให้การไว้ แต่เนื่องจากฎีกาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ ๒ จึงฎีกาปัญหาข้อนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคสอง โดยจำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า มาตรา ๕ แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวบัญญัติว่า “นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามมาตรา ๓๐ ได้ก่อขึ้น มิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่ขอรับชำระได้” เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่เจ้าหนี้ทุกรายของจำเลยที่ ๒ นั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๕ ตาม พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ มีผลใช้บังคับแก่บรรดาเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเท่านั้น แต่หามีผลบังคับถึงโจทก์ผู้ทรงตั๋วแลกเงินที่ใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้เงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ตั๋วแลกเงินพึงใช้เงินในวันถึงกำหนดซึ่งเป็นวันผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์จนเสร็จสิ้นดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๙๔๑ , ๙๕๙ และมาตรา ๙๖๘ (๒) โจทก์จึงหาใช่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวไม่ จำเลยที่ ๒ จึงไม่อาจกล่าวอ้างบทบัญญัติมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวเพื่อชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ถึงเพียงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ได้ ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๘๐,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.