คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7107/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานการเงิน มีหน้าที่รักษาเงินสดและทำบัญชีรับจ่าย ทุกประเภทตามคำสั่งของโจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป เช่นนี้เป็นการอ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 อันเป็นเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานกรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 570,416.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 451,374.62 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อพ้นกำหนด1 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานการเงินมีหน้าที่รับผิดชอบการเงินของโจทก์ประจำสาขาเวียงป่าเป้า ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม 2536 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2536 จำเลยที่ 1ได้ทำเอกสารปลอมและเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปเป็นจำนวน366,618.60 บาท รวมทั้งได้เบียดบังเอาเงินที่ตัวแทนโจทก์นำส่งเป็นเบี้ยประกันภัยไปอีกจำนวน 33,384.10 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 400,002.70 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้คืนแก่โจทก์ โจทก์พบการกระทำของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2536 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2539แม้จะเกิน 1 ปี แต่ฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องผิดสัญญารวมอยู่ด้วยซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความเอาไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 400,002.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 เมษายน 2537เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 เบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ไป แต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเกิน 1 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานการเงิน มีหน้าที่รักษาเงินสดและทำบัญชีรับจ่ายทุกประเภทตามคำสั่งของโจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป เช่นนี้เป็นการอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1อันเป็นเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงาน กรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นับแต่จำเลยที่ 1เริ่มผิดสัญญาจ้างแรงงานวันที่ 19 มีนาคม 2536 ถึงวันฟ้องวันที่5 มกราคม 2539 ยังไม่พ้น 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share