คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคารจำเลยที่1จ่ายเงินตามเช็คจำนวน16ฉบับเป็นการจ่ายเงินฝากของโจทก์ส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นการจ่ายเงินตามข้อตกลงตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1และจำเลยที่1ก็ได้นำจำนวนเงินตามเช็คพิพาทไปหักทอนบัญชีกระแสรายวันของโจทก์โดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยที่1ถูกต้องแล้วและเมื่อโจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับสัญญาบัญชีกระแสรายวันและแจ้งจำเลยที่1และจำเลยที่3สมุห์บัญชีธนาคารจำเลยที่1ให้เพิกถอนรายการเช็คพิพาทที่นำมาลงบัญชีกระแสรายวันของโจทก์โดยไม่ถูกต้องออกเสียแต่จำเลยที่1และที่3ก็มิได้ปฏิบัติตามและยังคงถือว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่1ตามรายการที่ลงในบัญชีกระแสรายวันดังนี้การกระทำของจำเลยที่1และที่3ดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ผลการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจซึ่งส.ผู้เชี่ยวชาญของศาลเป็นผู้ตรวจพิสูจน์โดยเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทกับลายมือชื่อตัวอย่างของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่1และลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คแล้วส.มีความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันแม้ส. จะมิได้มาเบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ก็รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา130 ลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมิใช่ลายมือชื่อของโจทก์และเป็นลายมือชื่อปลอมการที่จำเลยที่1ประกอบธุรกิจการธนาคารซึ่งเป็นธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนการรับฝากเงินและการจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินจากธนาคารเป็นธุรกิจส่วนหนึ่งของจำเลยที่1ซึ่งจะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำและโดยที่จำเลยที่3เป็นสมุห์บัญชีลูกจ้างของจำเลยที่1มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของข้อความในเช็คและลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คที่นำมาขอเบิกเงินจากธนาคารของจำเลยที่1จ ำเลยที่3ย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของลูกค้าผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดาทั้งจำเลยที่3จะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วๆไปเพราะเป็นงานในหน้าที่ของจำเลยที่3ที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำการที่จำเลยที่2ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยที่1และจำเลยที่3จ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คดังกาวไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่1กับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลยที่1ยิ่งกว่านั้นลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทก็มีลักษณะแตกต่างกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่1ค่อนข้างชัดเจนซึ่งหากได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่โดยละเอียดรอบคอบจะต้องทราบว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเป็นลายมือชื่อปลอมการกระทำของจำเลยที่2และที่3จึงเป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวังในฐานะที่จำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทอันเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่1ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่3จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา420และมาตรา425 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและแจ้งให้จำเลยที่1และที่3เพิกถอนรายการที่ไม่ถูกต้องขอให้จำเลยที่1และที่3เพิกถอนรายการตามใบแจ้งรายการบัญชีโดยให้ถือว่ามิได้มีการเบิกถอนเงินตามเช็คพิพาทและงดคิดดอกเบี้ยตามเช็คดังกล่าวหรือมิฉะนั้นให้จำเลยที่1และที่3ร่วมกันหรือแทนกันนำเงินจำนวน625,365บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยซึ่งคิดเอาจากบัญชีของโจทก์ส่งคืนบัญชีโจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมายและให้จำเลยที่1หักทอนบัญชีเพื่อจะทราบว่ามียอดหนี้ค้างชำระกันในขณะนี้เป็นจำนวนเท่าใดแต่จำเลยที่1และที่3ไม่ยอมที่จะเพิกถอนรายการตามใบแจ้งรายการบัญชีโดยให้ถือว่ามิได้มีการเบิกถอนเงินตามเช็คพิพาทและงดคิดดอกเบี้ยตามเช็คดังที่โจทก์เรียกร้องและโจทก์ได้เลือกฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวที่จำเลยที่1คิดเอาจากโจทก์โดยกล่าวหาว่าจำเลยที่1และที่3กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงเท่ากับโจทก์ยอมรับยอดเงินตามรายการในบัญชีเดินสะพัดที่จำเลยที่1เรียกร้องเอาจากโจทก์และฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นตัวเงินเอาจากจำเลยที่1และที่3ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเลือกได้เมื่อจำเลยที่1และที่3จะต้องรับผิดในการกระทำละเมิดต่อโจทก์และจำเลยที่1และที่3ไม่ยอมเพิกถอนรายการในบัญชีเดินสะพัดเช่นนี้จึงชอบที่จะบังคับให้จำเลยที่1และที่3ชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์เลือกจำเลยที่1และที่3จึงต้องร่วมกันชำระเงินจำนวน625,365บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยซึ่งจำเลยที่1และที่3คิดเอาจากบัญชีของโจทก์คืนอันถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่1และที่3ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา438ซึ่งจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยที่1และที่3คิดเอาจากโจทก์เป็นจำนวน16,170.94บาทโจทก์ก็ชอบที่จะได้รับชดใช้คืนเป็นค่าเสียหายด้วยสำหรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ15ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จก็เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราที่จำเลยที่1เรียกเก็บจากโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลยที่1และที่3ได้โดยเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งที่โจทก์ได้รับเนื่องจากจำเลยที่1และที่3คิดดอกเบี้ยเอาจากโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1สาขาจรัลสนิทวงศ์ ตำแหน่งผู้จัดการและจำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 สาขาจรัลสนิทวงศ์ ตำแหน่งสมุห์บัญชีโจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 สาขาจรัลสนิทวงศ์ และได้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับจำเลยที่ 1 สาขาจรัลสนิทวงศ์ในวงเงิน 1,500,000 บาท เมื่อเดือนธันวาคม 2531 จำเลยที่ 4และที่ 5 ได้ร่วมกันลักใบสั่งซื้อเช็คซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ให้โจทก์ไว้เพื่อใช้ในการขอเบิกจ่ายสมุดเช็คจากจำเลยที่ 1 ไปจากโจทก์แล้วได้นำใบสั่งซื้อเช็คดังกล่าวไปซื้อเช็คของจำเลยที่ 1สาขาจรัลสนิทวงศ์ 1 เล่ม จำนวน 50 ฉบับ ต่อจากนั้นจำเลยที่ 4และที่ 5 ได้ร่วมกันกรอกข้อความในเช็คพิพาทตั้งแต่ฉบับเลขที่2512501 ถึง 2512518 รวม 16 ฉบับ พร้อมกับปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในช่องผู้สั่งจ่าย แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1สาขาจรับสนิทวงศ์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 16 ฉบับ ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 รวมเป็นเงิน625,365 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อในทางการที่จ้าง และจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์เบิกเงินจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ได้ร่วมกันบันทึกในใบแจ้งรายการบัญชีทุกครั้งและยังคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ตามจำนวนเงินที่จ่ายไปแต่ละครั้งด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1ถือว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 รวมเป็นจำนวนเงิน 632,865 บาทจำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินคืนให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 632,865 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้ที่นำเช็คมาเรียกเก็บเงินโดยสุจริตและได้ใช้ความระมัดระวังอย่างวิญญูชนตามหน้าที่วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเงินแล้ว เหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ไม่แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าใบสั่งซื้อเช็คหายไปและตรวจสอบรายการสำเนาบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบให้แก่โจทก์ทุกสิ้นเดือนว่ารายการเบิกถอนเงินถูกต้องหรือไม่ หากตรวจพบว่ามีการปลอมเช็คและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบ และมีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย ทั้งโจทก์ก็ยังไม่ได้รับความเสียหายเพราะเงินที่จ่ายตามเช็คพิพาทเป็นเงินของจำเลยที่ 1 หาใช่เงินของโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและจำเลยที่ 1 คิดดอกเบี้ยจากโจทก์เพียง 16,170.94 บาทโจทก์ไม่มีอำนาจที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้เงิน641,535.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน625,365 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1สาขาจรัลสนิทวงศ์ ตั้งแต่ปี 2517 โดยได้เปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันไว้กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 และได้มอบตัวอย่างลายมือชื่อไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการและจำเลยที่ 3เป็นสมุห์บัญชีของจำเลยที่ 1 สาขาจรัลสนิทวงศ์ การเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวกระทำโดยวิธีการใช้เช็คที่โจทก์ขอเบิกจากจำเลยที่ 1 ในปี 2525 โจทก์ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยที่ 1 สาขาจรัลสนิทวงศ์ ในวงเงิน 1,500,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.7 การเบิกจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1จะนำลงในบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7ต่อมามีผู้นำเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 รวม 16 ฉบับเป็นเงิน 625,365 บาท เรียกเก็บเงินจากบัญชีดังกล่าวของโจทก์จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คพิพาทหักทอนบัญชีของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7หลังจากที่โจทก์ทราบโจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดสัญญาบัญชีกระแสรายวันรวมทั้งสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เพิกถอนรายการเช็คพิพาทที่นำมาลงบัญชีกระแสรายวันโดยไม่ถูกต้องออกเสียตามเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วตามเอกสารหมาย จ.15
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3เป็นประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3ฎีกาว่าการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 16 ฉบับ เป็นการจ่ายเงินของจำเลยที่ 1 โจทก์มิได้สูญเสียเงินฝาก และหากฟังว่าเป็นเช็คปลอมการจ่ายเงินตามเช็คย่อมไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ไม่เสียหายและไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า ตามบัญชีกระแสรายวันของโจทก์เอกสารหมาย จ.7 เช็คเลขที่ 2512504 และเช็คเลขที่ 2512503 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2531 และวันที่ 26 ธันวาคม2531 ตามลำดับ เป็นเช็คที่ได้สั่งจ่ายในขณะที่โจทก์มียอดเงินคงเหลือในบัญชี 1,000,000 บาทเศษ ซึ่งหมายความว่าโจทก์มีเงินฝากในบัญชีเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 หาใช่ว่าโจทก์ไม่มีเงินฝากเหลืออยู่ในบัญชีเลยดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาไม่ส่วนเช็คพิพาทอีก 14 ฉบับ ซึ่งสั่งจ่ายในระหว่างเดือนมกราคม 2532ถึงเดือนเมษายน 2532 จำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวไปตามข้อตกลงตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย ล.7 โดยในระหว่างเวลาดังกล่าว โจทก์ไม่มีเงินฝากเหลืออยู่ในบัญชีมีแต่ยอดเงินที่ติดลบแสดงว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1จ่ายเงินตามเช็คทั้ง 16 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นการจ่ายเงินฝากของโจทก์ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นการจ่ายเงินตามข้อตกลงตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ก็ได้นำจำนวนเงินตามเช็คพิพาทไปหักทอนบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 โดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถูกต้องแล้ว และเมื่อโจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับสัญญาบัญชีกระแสรายวันและแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เพิกถอนรายการเช็คพิพาทที่นำมาลงบัญชีกระแสรายวันของโจทก์โดยไม่ถูกต้องออกเสียตามเอกสารหมาย จ.14ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วตามเอกสารหมายจ.15 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็มิได้ปฏิบัติตามและยังคงถือว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 ตามรายการที่ลงในบัญชีกระแสรายวันเท่ากับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังคงยืนยันว่าการเบิกจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ เป็นการถูกต้องแล้ว และโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 ตามจำนวนที่ระบุไว้ในบัญชีกระแสรายวันซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3ดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย และเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการที่สองตามฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 3 มีว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นลายมือปลอมหรือไม่ และจำเลยที่ 1 และที่ 3จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด ในปัญหาดังกล่าวพิเคราะห์แล้วโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ทั้ง 16 ฉบับ ไม่ใช่ลายมือชื่อของพยานและได้อธิบายถึงลักษณะความแตกต่างของลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทกับตัวอย่างลายมือชื่อที่พยานให้ไว้กับจำเลยที่ 1และเมื่อพยานทราบว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทไม่ใช่ลายมือชื่อของพยาน พยานได้แจ้งให้พันตำรวจโทไพโรจน์ เศรษฐ์สุนทรกรรมการบริหารโรงเรียนเทคนิคจรัลสนิทวงศ์ซึ่งเป็นโรงเรียนของพยานทราบและได้ไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจโทวัลลภ ณ นครซึ่งในขณะนั้นรับราชการเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลบางกอกน้อยตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 และต่อมาได้แจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกพิทักษ์ พวงธรรมเจริญ ซึ่งในขณะนั้นรับราชการเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนนนท์ตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 โดยพยานแจ้งความว่าใบขอซื้อเช็คที่พยานเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานได้หายไป ตั้งแต่ประมาณวันที่ 15 หรือ 16 ธันวาคม 2531 เข้าใจว่ามีบุคคลลักไปขอซื้อเช็คแล้วนำเช็คดังกล่าวมาสั่งจ่ายเงินจำนวน 16 ฉบับ ซึ่งพยานอ้างว่าไม่ใช่เช็คที่พยานได้สั่งจ่ายไป และสงสัยว่าจำเลยที่ 4เป็นคนลักไปโดยโจทก์มีพันตำรวจโทไพโรจน์ เศรษฐ์สุนทรร้อยตำรวจโทวัลลภ ณ นคร และร้อยตำรวจเอกพิทักษ์ พวงธรรมเจริญมาเบิกความสนับสนุนและได้ความต่อมาว่า เมื่อจับจำเลยที่ 4 ได้แล้วพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4ก็ให้การว่าจำเลยที่ 5 เป็นคนลักใบสั่งซื้อเช็คและปลอมใบสั่งซื้อเช็คแล้วนำไปซื้อเช็คจากจำเลยที่ 1 จากนั้นก็ได้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในเช็คที่ซื้อมาและนำไปขึ้นเงินจากจำเลยที่ 1 ในบัญชีของโจทก์ซึ่งตรงกันกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 4 เอกสารหมาย จ.13ประกอบกับผลการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจซึ่งพันตำรวจโทสมชาย ศิริพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญของศาลเป็นผู้ตรวจพิสูจน์โดยเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเอกสารหมายจ.2 ทั้ง 16 ฉบับ กับลายมือชื่อตัวอย่างของโจทก์ที่ให้ไว้กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.6 และ ล.12 และลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คเอกสารหมาย จ.9 รวม 88 ฉบับ แล้วพันตำรวจโทสมชายมีความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2536แม้พันตำรวจโทสมชายผู้เชี่ยวชาญของศาลซึ่งเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทจะมิได้มาเบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ก็รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 130 นอกจากนี้จากการพิจารณาตัวอย่างลายมือชื่ออันแท้จริงของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.6 และลายมือชื่อของโจทก์ในช่องผู้สั่งจ่ายในเช็คตามเอกสารหมาย จ.9 เปรียบเทียบกับลายมือชื่อในช่องผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ แล้วเห็นว่า มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว และสามารถพิจารณาเห็นความแตกต่างได้ค่อนข้างชัดเจนด้วยตาเปล่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาดังกล่าวสอดคล้องเชื่อมโยงกัน สมเหตุสมผลและมีเอกสารประกอบ ส่วนจำเลยที่ 1และที่ 3 นำสืบแต่เพียงว่าลายมือชื่อในเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับมีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้กับจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบให้ได้ความแน่ชัดว่าลายมือชื่อในเช็คพิพาททั้ง16 ฉบับ เป็นลายมือชื่ออันแท้จริงของโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3ฎีกาว่านางศิริมาโจทก์เบิกความตอบคำซักถามของทนายโจทก์ตอนหนึ่งว่า เช็คที่นางศิริมาได้สั่งจ่ายในช่วงปี 2531 และ 2532นั้น ปรากฏตัวอย่างเช็คในเอกสารหมาย จ.2 จ.8 และ จ.9ซึ่งเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 คือเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ จึงเท่ากับนางศิริมาซึ่งเป็นโจทก์ยอมรับว่าได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ทั้ง 16 ฉบับ นั้นได้พิจารณาคำเบิกความโจทก์โดยตลอดแล้วเห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันตลอดมาว่า เช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.2โจทก์มิได้เป็นผู้กรอกข้อความและลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ มิใช่ลายมือชื่อของโจทก์ ที่โจทก์ตอบคำซักถามของทนายโจทก์ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกานั้นจึงน่าจะเป็นความพลั้งเผลอมากกว่า มิได้ทำให้น้ำหนักคำเบิกความของโจทก์เสียไปหรือทำให้ต้องรับฟังว่าโจทก์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ทั้ง 16 ฉบับ ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3ฎีกาไม่ และที่โจทก์เบิกความสับสนเกี่ยวกับใบคำขอซื้อเช็คที่หายไปตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกานั้น เห็นว่า เป็นการเบิกความสับสนเพียงเล็กน้อยไม่ทำให้น้ำหนักคำพยานของโจทก์เสียไปสรุปแล้วข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.2 มิใช่ลายมือชื่อของโจทก์และเป็นลายมือชื่อปลอม การที่จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจการธนาคารอันเป็นธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การรับฝากเงินและการจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินจากธนาคารเป็นธุรกิจส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ และโดยที่จำเลยที่ 3 เป็นสมุห์บัญชีลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของข้อความในเช็คและลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คที่นำมาขอเบิกเงินจากธนาคารของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3ย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของลูกค้าผู้สั่งจ่ายหรือไม่ ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดาทั้งจำเลยที่ 3 จะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไป เพราะเป็นงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 3ที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาจรัลสนิทวงศ์ และจำเลยที่ 3 จ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ ให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ทั้งสี่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้กับจำเลยที่ 1 กับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลยที่ 1 และยิ่งกว่านั้นลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ ก็มีลักษณะแตกต่างกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้กับจำเลยที่ 1 ค่อนข้างชัดเจนซึ่งหากได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่โดยละเอียดรอบคอบจะต้องทราบว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับเป็นลายมือชื่อปลอม การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3จึงเป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวังในฐานะที่จำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ อันเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 425
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาเป็นประการที่สามว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวในฟ้องพร้อมทั้งดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 และหากจะฟังว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดที่ได้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทไปและหักบัญชีของโจทก์ ก็เป็นเพียงข้อผิดพลาดในเรื่องการหักบัญชีเดินสะพัดเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้อาจแก้ไขโดยเพิกถอนเปลี่ยนแปลงทางบัญชีดังกล่าวนั้นได้ ไม่ชอบที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เพราะเท่ากับเป็นการบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหนี้ใด ๆ จะต้องชำระ และหากจะฟังว่าจำเลยที่ 1และที่ 3 จะต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์กรณีก็เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้งโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น ในปัญหาดังกล่าวนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามเอกสารหมาย จ.14 ที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เพิกถอนรายการที่ไม่ถูกต้องลงวันที่ 12 มิถุนายน 2532 ได้ระบุถุงการกระทำของจำเลยที่ 1ที่ได้จ่ายเงินตามเช็คซึ่งลงลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายปลอม อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 625,365 บาท และได้บันทึกรายการตามเช็คทั้ง 16 ฉบับ ลงในใบแจ้งรายการบัญชีว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 พร้อมทั้งคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ด้วย จึงขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เพิกถอนรายการตามใบแจ้งรายการบัญชีโดยให้ถือว่ามิได้มีการเบิกถอนเงินตามเช็คทั้ง 16 ฉบับ และงดคิดดอกเบี้ยตามเช็คดังกล่าว หรือมิฉะนั้นให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันนำเงินจำนวน 625,365 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยซึ่งคิดเอาจากบัญชีของโจทก์ส่งคืนบัญชีโจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมายและให้จำเลยที่ 1 หักทอนบัญชีเพื่อจะทราบว่ามียอดหนี้ค้างชำระกันในขณะนี้เป็นจำนวนเท่าใด แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 หาได้ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ และยังให้การต่อสู้พร้อมกับนำสืบยืนยันถึงจำนวนเงินที่โจทก์ต้องรับผิดตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3ได้จ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ ไปพร้อมทั้งดอกเบี้ยซึ่งตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคิดในอัตราร้อยละ 18 ต่อไป ดังนั้นจึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังคงยืนยันที่จะให้โจทก์ต้องรับผิดในเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ รวมทั้งดอกเบี้ยตลอดมาและไม่ยินยอมที่จะเพิกถอนรายการตามใบแจ้งรายการบัญชีโดยจำเลยที่ 1 ถือว่ามีการเบิกถอนเงินตามเช็คทั้ง 16 ฉบับและคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ในอัตราดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์จนคดีมาถึงศาลเช่นนี้จึงเป็นที่เห็นประจักษ์แล้วว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ยอมที่จะเพิกถอนรายการตามใบแจ้งรายการบัญชีโดยให้ถือว่ามิได้มีการเบิกถอนเงินตามเช็คทั้ง 16 ฉบับ และงดคิดดอกเบี้ยตามเช็คดังที่โจทก์เรียกร้องและโจทก์ได้เลือกฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 คิดเอาจากโจทก์โดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงเท่ากับโจทก์ยอมรับยอดเงินตามรายการในบัญชีเดินสะพัดที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเอาจากโจทก์และฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นตัวเงินเอาจากจำเลยที่ 1 และที่ 3ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเลือกได้เมื่อตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องรับผิดในการกระทำละเมิดต่อโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ยอมเพิกถอนรายการในบัญชีเดินสะพัดเช่นนี้ จึงชอบที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์เลือก จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องร่วมกันชำระเงินจำนวน 625,365 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยซึ่งจำเลยที่ 1และที่ 3 คิดเอาจากบัญชีของโจทก์คืนอันถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438ซึ่งจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 คิดเอาจากโจทก์เป็นจำนวน 16,170.94 บาท โจทก์ก็ชอบที่จะได้รับชดใช้คืนเป็นค่าเสียหายด้วย สำหรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ก็เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้โดยเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งที่โจทก์ได้รับเนื่องจากจำเลยที่ 1และที่ 3 คิดดอกเบี้ยเอาจากโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายก่อนฟ้องและค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้จำเลยที่ 1และที่ 3 ชำระแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share