คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 4 ก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ได้นำงานบางส่วนไปให้โจทก์ดำเนินการ ตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 กำหนดว่า เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 4 แล้ว ให้บรรดางานที่จำเลยที่ 4 ทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำไปไว้ ณ สถานที่ทำงานจ้างตกเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 4 แต่การที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นวัสดุอุปกรณ์ที่โจทก์นำเข้าไปดำเนินการ โจทก์ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1336 บัญญัติไว้ และกรรมสิทธิ์ของโจทก์จะสิ้นสุดลงได้โดยบทบัญญัติของกฎหมายหรือโดยโจทก์ทำนิติกรรมให้มีผลเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ซึ่งโจทก์มิได้ทำนิติกรรมให้มีผลเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 หรือจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ทำสัญญากันดังกล่าวข้างต้น ก็มีผลเฉพาะทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 เท่านั้น จำเลยที่ 4 จะยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้มอบหมายหาได้ไม่ สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิเฉพาะคู่สัญญา มิได้ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนทรัพย์สินของโจทก์ดังกล่าวให้แก่โจทก์
เมื่อโจทก์จะเข้าไปรื้อถอนทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ห้ามและขัดขวางมิให้โจทก์เข้ารื้อถอนโดยอ้างสิทธิตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ข้างต้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้กระทำเช่นนั้นได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จึงต้องคืนทรัพย์ตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือใช้ราคาและค่าเสียหายอื่น ๆ ด้วย เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ในการใช้ราคาและค่าเสียหายอื่น ๆ ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบด้วยมาตรา 427
ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะต้องคืนให้โจทก์คืนแผ่นเหล็กและเสาเข็ม เมื่อระยะเวลานับแต่เกิดข้อพิพาทจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 8 ปี ทรัพย์สินของโจทก์น่าจะเสื่อมสภาพไปจนพ้นวิสัยที่จะคืนในสภาพที่ใช้งานได้ดังเดิมเพื่อมิให้เกิดปัญหาให้ชั้นบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาให้แก่โจทก์โดยไม่กำหนดให้คืนทรัพย์สิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ จะทำการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมทาวเวอร์ สูง ๓๒ ชั้น ได้ว่าจ้างบริษัทอัลไลด์ คอนสตรัคชั่น แอนด์ ดีเวลลอพเมนท์ จำกัด ก่อสร้างพื้นฐานรากใต้ดินและพื้นชั้นที่ ๑ ของอาคาร บริษัทอัลไลด์ฯ ได้ว่าจ้างช่วงจำเลยที่ ๔ ซึ่งมีจำเลยที่ ๕ เป็นกรรมการโดยจำเลยที่ ๑ ยินยอม ต่อมาจำเลยที่ ๔ ได้ว่าจ้างโจทก์ทำงานระบบป้องกันดินพัง ขุดดิน สำหรับการก่อสร้างพื้นฐานรากใต้ดิน โดยโจทก์มีหน้าที่จัดหาวัสดุ เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำงานรับจ้างตามสัญญา ต่อจากนั้นโจทก์ก็เข้าดำเนินงานโดยได้จัดหาและนำวัสดุอุปกรณ์เข้าไปใช้ดำเนินงานในบริเวณสถานที่ก่อสร้างหลายรายการด้วยกันและได้รื้อถอนกลับคืนมาแล้วบางส่วน คงเหลือวัสดุอุปกรณ์อยู่ในโครงการก่อสร้าง คือ เหล็กบีมสำหรับค้ำยันและรองรับเครื่องจักรในระหว่างการทำงาน แผ่นเหล็กปูพื้น แผ่นเหล็กสะพาน นอกจากนี้ยังมีวัสดุอุปกรณ์ที่โจทก์ได้เช่ามาจากบริษัทไทยยนต์แทรกเตอร์ จำกัด รวมวัสดุอุปกรณ์ที่ยังอยู่ในหน่วยงานก่อสร้างในความควบคุมดูแลของจำเลยทั้งห้าคิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๑๑,๑๕๑,๒๘๐ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๕ ได้แจ้งให้โจทก์ไปรื้อถอนแผ่นเหล็กเข็มพืด เสาเหล็กค้ำยันและวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ทั้งหมดออกไปจากหน่วยงาน โจทก์ได้เข้าไปในหน่วยงานเพื่อรื้อถอนและขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ แต่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปและขู่ว่าจะดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาบุกรุก โดยอ้างว่าวัสดุอุปกรณ์ที่อยู่ในสถานที่ก่อสร้างทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ แล้วตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๔ การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สมคบกันทำสัญญาตกลงให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของจำเลยที่ ๑ ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๔ โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งห้าให้ส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งห้าปฏิเสธ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันส่งมอบทรัพย์สินตามฟ้องคืนโจทก์ตามสภาพเดิมที่ใช้งานได้ดี หากไม่สามารถคืนได้ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันใช้ราคาทรัพย์สินและค่าเสียหายรวม ๒๐,๙๓๕,๖๘๐ บาท กับค่าเสียหายเดือนละ ๓๗๒,๐๐๐ บาท และวันละ ๙,๑๔๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินเสร็จสิ้น
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างตามฟ้อง เดิมจำเลยที่ ๑ ได้ว่าจ้างบริษัทอัลไลด์ คอนสตรัคชั่น แอนด์ ดีเวลลอพเมนท์ จำกัด ก่อสร้างพื้นฐานรากใต้ดินและพื้นชั้นที่ ๑ ปรากฏว่าบริษัทอัลไลด์ฯ ดำเนินงานก่อสร้างล่าช้ามากไม่อาจเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ ๑ จึงบอกเลิกสัญญาแก่บริษัทอัลไลด์ฯ และได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๔ ทำงานที่เหลือ โดยมีข้อสัญญาว่าผู้รับจ้างจะไม่นำงานทั้งหมดหรือส่วนใดส่วนหนึ่งไปให้ผู้อื่นรับช่วงอีกทอดหนึ่งโดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างก่อน และหากเมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว บรรดางานที่ผู้รับจ้างทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำมาไว้ ณ สถานที่ทำการจ้างนั้น ผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ว่าจ้าง โดยผู้รับจ้างจะเรียกค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ จำเลยที่ ๔ ทำงานได้งานเพียงร้อยละ ๖๐ จำเลยที่ ๔ ก็หยุดงาน จำเลยที่ ๕ ได้เข้าไปในบริเวณก่อสร้างเพื่อขนวัสดุ อุปกรณ์ สัมภาระและเครื่องมือก่อสร้าง จำเลยที่ ๓ ไม่ยินยอม และจำเลยที่ ๑ ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ ๔ ในวันเดียวกัน ในระหว่างทำการก่อสร้างจำเลยที่ ๑ ไม่เคยอนุญาตให้บริษัทอัลไลด์ฯ หรือจำเลยที่ ๔ ว่าจ้างผู้อื่นให้ทำงานช่วงแต่อย่างใด สัญญาว่าจ้างช่วงระหว่างบริษัทอัลไลด์ฯ กับจำเลยที่ ๔ หรือระหว่างจำเลยที่ ๔ กับโจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยเห็นหรือรับทราบจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๑ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ อาจทำขึ้นภายหลังจากที่จำเลยที่ ๑ บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ ๔ แล้ว โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ความจริงโจทก์เป็นเพียงลูกจ้างหรือผู้ร่วมงานคนหนึ่งของจำเลยที่ ๔ เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ใช่เจ้าของวัสดุอุปกรณ์ตามฟ้อง หากโจทก์เป็นผู้จัดหานำเข้ามาใช้ในการก่อสร้าง ก็ถือว่านำเข้ามาในนามของบริษัทอัลไลด์ฯ หรือของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ยอมรับว่า ขณะเลิกสัญญา จำเลยที่ ๔ มีวัสดุอุปกรณ์ตามฟ้องบางส่วนอยู่ในบริเวณที่ก่อสร้าง ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงกว่าความเป็นจริง จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดชอบ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า เดิมจำเลยที่ ๑ ตกลงว่าจ้างบริษัทอัลไลด์ฯ ก่อสร้างอาคารตามฟ้อง ต่อมาบริษัทอัลไลด์ฯ ได้มาว่าจ้างจำเลยที่ ๔ ก่อสร้างเฉพาะพื้นฐานรากใต้ดินและพื้นชั้นที่ ๑ และจำเลยที่ ๔ ก็ได้ว่าจ้างโจทก์ให้จัดทำระบบป้องกันดินพัง โจทก์ได้นำวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้เข้ามาในสถานที่ก่อสร้างโดยความรู้เห็นยินยอมของจำเลยที่ ๑ และบริษัทอัลไลด์ฯ ต่อมาจำเลยที่ ๑ มีข้อพิพาทกับบริษัทอัลไลด์ฯ จึงบอกเลิกสัญญาแล้วมาว่าจ้างจำเลยที่ ๔ ทำการก่อสร้างต่อไป จำเลยที่ ๑ มีข้อพิพาทกับจำเลยที่ ๔ จึงเลิกสัญญาโดยไม่ชอบเพราะไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่มีเหตุตามสัญญาหรือตามกฎหมายที่จะบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ไม่เคยตกลงในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้องตกไปเป็นของจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมให้จำเลยที่ ๔ และโจทก์ขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ออกจากสถานที่ก่อสร้าง จำเลยที่ ๔ เคยบอกให้โจทก์นำทรัพย์สินของโจทก์กลับคืนไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ยอมคืนทรัพย์สินให้แก่โจทก์โดยอ้างข้อตกลงตามสัญญา เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ จึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายของโจทก์สูงเกินความเป็นจริง และจำเลยที่ ๕ เป็นกรรมการของจำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ราคาแผ่นเหล็กเข็มพืด และใช้ราคาเสาเหล็กรวมเป็นเงิน ๓,๕๘๙,๑๒๐ บาท ให้จำเลยที่ ๑ คืนแผ่นเหล็กสะพาน คานเหล็กและเสาเหล็ก และแผ่นเหล็กปูพื้น หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนในราคาตันละ ๘,๐๐๐ บาท ส่วนแผ่นเหล็กปูพื้นให้ใช้ราคาแผ่นละ ๘,๐๐๐ บาท และให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าขาดประโยชน์จากแผ่นเหล็กเข็มพืดเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท นับแต่เดือนธันวาคม ๒๕๓๘ จนกว่าจะใช้ราคาแทนแต่ไม่เกิน ๖ เดือน นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ประการที่สองมีว่า จำเลยที่ ๑ ต้องคืนทรัพย์สินตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามฟ้อง โจทก์ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ บัญญัติไว้ และกรรมสิทธิ์ของโจทก์จะสิ้นสุดลงได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือโดยโจทก์ทำนิติกรรมใด ๆ ให้มีผลเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป แต่โจทก์มิได้ทำนิติกรรมให้มีผลเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ ๔ หรือจำเลยที่ ๑ แม้จำเลยที่ ๔ จะทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ. ๔ ยอมให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ที่จำเลยที่ ๔ ได้ทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำไปไว้ ณ สถานที่ทำงานจ้างโดยเฉพาะเพื่องานจ้างตกเป็นของจำเลยที่ ๑ เมื่อจำเลยที่ ๑ บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ ๔ แล้วก็ตาม ก็คงมีผลเฉพาะทรัพย์สินของจำเลยที่ ๔ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวเท่านั้น จำเลยที่ ๔ จะยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยโจทก์มิได้มอบหมายหาได้ไม่ ทั้งสัญญาระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๔ ตามเอกสารหมาย จ. ๔ ย่อมมีผลผูกพันในระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๔ และก่อให้เกิดบุคคลสิทธิหรือสิทธิเหนือบุคคลเฉพาะจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นคู่สัญญา มิได้ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาด้วย ดังนั้น หากจำเลยที่ ๔ ผิดสัญญาตามเอกสารหมาย จ. ๔ จำเลยที่ ๑ ย่อมใช้สิทธิบังคับตามสัญญาได้เฉพาะแก่จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น แต่จะให้มีผลกระทบกระทั่งแก่สิทธิของโจทก์ไม่ได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินตามฟ้องคืนจากจำเลยที่ ๑ ผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงต้องคืนทรัพย์สินตามฟ้องนั้นให้แก่โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดต่อโจทก์ในการคืนทรัพย์สินตามฟ้องหรือใช้ราคาและค่าเสียหายด้วยหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ นำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อโจทก์จะเข้าไปรื้อถอนทรัพย์สินตามฟ้องออกจากสถานที่ก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ ๑ นั้น จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ห้ามและขัดขวางมิให้โจทก์เข้ารื้อถอนโดยอ้างสิทธิตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๔ เอกสารหมาย จ. ๔ อันเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้อง โดยจำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ดังกล่าวเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ซึ่งกระทำไปโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้กระทำเช่นนั้นได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ จึงต้องคืนทรัพย์สินตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือใช้ราคาและค่าเสียหายอื่น ๆ ด้วย และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นกิจการของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ย่อมต้องร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับผิดต่อโจทก์ในการใช้ราคาและค่าเสียหายอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๖๗ ประกอบด้วยมาตรา ๔๒๗ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ ๑ ว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด เห็นว่า โจทก์มีเพียงตัวโจทก์มาเบิกความตามข้อกล่าวอ้างของตนเท่านั้น ในส่วนของแผ่นเหล็กเข็มพืด นอกจากจำเลยที่ ๒ จะเบิกความว่ามีแผ่นเหล็กเข็มพืดอยู่ในโครงการของจำเลยที่ ๑ เพียง ๔๕๗ แผ่น แล้ว นายวันชัย ตุลาธิมุตติ ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทไทยยนต์แทรกเตอร์ จำกัด พยานโจทก์เองยังเบิกความว่า โจทก์เช่าแผ่นเหล็กเข็มพืดจากบริษัทไทยยนต์แทรกเตอร์ จำกัด ๔๕๗ แผ่น ตามสัญญาเช่าเหล็กชีทไพล์ เอกสารหมาย จ. ๙ ซึ่งตรงตามคำฟ้องของโจทก์ ข้ออ้างตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำนวนแผ่นเหล็กเข็มพืดมี ๔๗๑ แผ่น จึงเกินไปกว่าจำนวนตามคำฟ้อง รับฟังเช่นนั้นไม่ได้ และแสดงให้เห็นได้ต่อไปว่า จำนวนเหล็กที่เหลืออยู่ในโครงการของจำเลยที่ ๑ ตามรายการที่ฝ่ายจำเลยที่ ๑ สำรวจมาตามเอกสารหมาย ล. ๗ เป็นการสำรวจที่ตรงตามข้อเท็จจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของโจทก์ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ทำงานในระบบป้องกันดินพังมาเป็นเวลานาน ต้องทำตามแบบของวิศวกรและมีวิศวกรควบคุม ปริมาณวัสดุอุปกรณ์จึงเป็นไปตามที่โจทก์เบิกความนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์เองก็ปรากฏว่าโจทก์ได้รื้อถอนวัสดุอุปกรณ์กลับคืนไปแล้วบางส่วน กรณีย่อมเป็นไปได้ว่าการสำรวจทรัพย์สินของโจทก์สับสนและคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าทรัพย์สินของโจทก์ที่ยังค้างอยู่ในโครงการของจำเลยที่ ๑ มีจำนวนตามเอกสารหมาย ล. ๗ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ชอบแล้ว สำหรับราคาของเหล็กชนิดต่าง ๆ ควรเป็นเท่าใดนั้น เห็นว่า พยานหลักฐานดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างที่เลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน โจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อนี้มิได้นำสืบถึงราคาเหล็กชนิดต่าง ๆ ที่เป็นของใหม่เพื่อให้เปรียบเทียบได้กับของใช้แล้ว และเหล็กชนิดต่าง ๆ ตามฟ้องก็ไม่ปรากฏว่าผ่านการใช้งานมานานเพียงใด นายวันชัยพยานโจทก์ก็มิได้เบิกความยืนยันว่าราคาเหล็กชนิดต่าง ๆ ซึ่งตนเบิกความถึงนั้นเป็นราคาของใหม่หรือของใช้แล้ว ส่วนราคาตามที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาก็น่าจะใกล้เคียงกับราคาเศษเหล็กยิ่งกว่าเหล็กที่สามารถใช้งานได้ตามสภาพปกติ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดราคาของเหล็กชนิดต่าง ๆ โดยเฉลี่ยในราคากิโลกรัมละ ๘ บาท จึงนับว่าเหมาะสมแล้ว สำหรับปัญหาในเรื่องค่าเสียหายของโจทก์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมคืนทรัพย์สินของโจทก์ทั้งหมด ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในกิจการของโจทก์เองหรือการนำออกให้เช่า สมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งในส่วนแผ่นเหล็กเข็มพืดและเหล็กชนิดอื่น ๆ รวมกันเป็นเงินเดือนละ ๘๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ปรากฏว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ครบกำหนด ๖ เดือน ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๔ เมื่อนับแต่เดือนธันวาคม ๒๕๓๘ จึงเป็นเวลา ๖๕ เดือน เป็นเงิน ๕,๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่ระยะเวลานับแต่เกิดข้อพิพาทในคดีนี้จนปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ ๘ ปี แล้ว ทรัพย์สินของโจทก์น่าจะเสื่อมสภาพไปจนพ้นวิสัยที่จะคืนในสภาพที่ใช้งานได้ดังเดิม เพื่อมิให้เกิดปัญหาในชั้นบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันใช้ราคาทรัพย์สินให้แก่โจทก์ไปโดยไม่กำหนดให้คืนทรัพย์สิน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันใช้ราคาทรัพย์สินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คิดเป็นเงิน ๔,๘๘๔,๘๐๐ บาท กับค่าเสียหาย ๕,๒๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share