คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิม ป.เจ้ามรดกเป็นเจ้าของที่ดินรวม 6 แปลง เมื่อ ป.ถึงแก่กรรมศาลได้มีคำสั่งตั้ง จ.เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. และ จ.ได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดก ทั้ง 6 แปลง ดังกล่าวมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ.ในฐานะผู้จัดการมรดกจ.จึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้น ในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงเด็กหญิง ส.บุตรของ ป.ซึ่งเกิดกับโจทก์ด้วย แม้ภายหลังจากที่ จ.ได้โอนที่พิพาททั้ง 6 แปลง มาเป็นของ จ.ในฐานะผู้จัดการมรดกแล้ว จ.ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่พิพาททั้ง 6 แปลง ไปให้แก่ จ.เองในฐานะส่วนตัวนั้นก็จะถือว่า จ.ในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่พิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวยังมิได้ เพราะจ.ยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนั้น การที่ จ.ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องนำมาแบ่งให้ทายาทไปให้แก่ตนเองทั้งหมดในฐานะเป็นทายาทคนหนึ่งแล้วนำไปโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งหมด ก็เป็นการกระทำของในฐานะผู้จัดการมรดกที่กระทำไปโดยปราศจากอำนาจ จึงหามีผลผูกพันโจทก์และทายาทอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1720, 823 เมื่อ จ.ยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้
จ.ครอบครองที่พิพาทแทนทายาททุกคน จึงถือได้ว่าได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ผู้รับมรดกเด็กหญิง ส.ด้วย เมื่อโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดเวลาห้ามฟ้องคดีมรดก 1 ปี และ 10 ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกตายตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1754 บัญญัติไว้ ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 1748เมื่อ จ.ได้โอนที่ดินมรดกพิพาททั้ง 6 แปลง ไปให้แก่ตนเองทั้งหมดและโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ไปโดยไม่ชอบ โจทก์ในฐานะผู้รับมรดกของเด็กหญิง ส.ก็ชอบที่ใช้สิทธิในฐานะการเป็นทายาทของเด็กหญิง ส.ที่มีอยู่ต่อกองมรดกฟ้องบังคับให้เพิกถอนการโอนที่มรดกดังกล่าวเสียได้

Share