แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 วันออกเช็คย่อมหมายถึงวันที่ลงในเช็ค ส่วนวันที่เขียนเช็คหาใช่วันออกเช็คไม่ แม้จำเลยจะเขียนเช็คพิพาทก่อนที่ได้ทำสัญญากู้เงินแต่เมื่อวันที่ลงในเช็คตรงกับวันครบกำหนดชำระตามสัญญากู้เงิน แสดงว่าขณะเช็คพิพาทถึงกำหนดสั่งจ่ายซึ่งถือว่าเป็นวันออกเช็คนั้นมูลหนี้ตามเช็คพิพาทมีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมายหาใช่ขณะที่ออกเช็คพิพาทจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ แต่หนี้นั้นยังไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายไม่ เมื่อจำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คจำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2540 จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ ระบุจำนวนเงิน250,000 บาท จำเลยให้สัญญาแก่โจทก์ว่าจะนำต้นเงินกู้มาชำระในวันที่ 15มกราคม 2540 จำนวนเงิน 150,000 บาท และชำระในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540จำนวนเงิน 100,000 บาท โดยมีนายจำนวน ฉุ้นประดับ เป็นผู้เขียนสัญญาจำเลยได้ออกเช็คของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาสงขลา ให้แก่โจทก์2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 15 มกราคม 2540 จำนวนเงิน 150,000 บาท และฉบับที่สองลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 จำนวน 100,000 บาท ต่อมาเช็คฉบับแรกจำเลยได้ชำระเงินให้แก่โจทก์แล้ว ส่วนเช็คฉบับที่สองซึ่งเป็นเช็คพิพาท ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2540 โดยให้เหตุผลว่าบัญชีปิดแล้วปรากฏตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ. 2 และ จ.3 ตามลำดับปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ในวันที่จำเลยออกเช็คพิพาทจำเลยยินยอมลงชื่อในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1การที่จำเลยออกเช็คพิพาทก็เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลากระชั้นชิดกัน จะถือว่าสัญญากู้ดังกล่าวเพิ่งมาทำภายหลังการออกเช็คให้แก่โจทก์แล้วไม่สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมายหาได้ไม่ แม้สัญญากู้ดังกล่าวทำขึ้นภายหลังก็มีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 4 แห่งบทบัญญัติความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 นั้นวันออกเช็คย่อมหมายถึงวันที่ลงในเช็ค ส่วนวันที่เขียนเช็คหาใช่วันออกเช็คไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่โจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า วันที่ 10 มกราคม 2540 เวลา ประมาณ 19 นาฬิกา นายจำนวนเป็นผู้เขียนสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 โดยจำเลยบอกนายจำนวนว่าได้รับเงิน 250,000 บาท แล้วในตอนกลางวัน และนายจำนวนเป็นพยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยได้กู้ยืมเงิน250,000 บาท และจำเลยได้รับเงินดังกล่าวจากโจทก์ไปก่อนที่จะทำสัญญา อันแสดงให้เห็นว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวได้ทำขึ้นภายหลังจำเลยออกเช็คพิพาทแล้วแม้จะได้กระทำในวันเดียวกันคือวันที่ 10 มกราคม 2540 นั้นเองก็ตาม เช็คฉบับแรกโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว แต่ฉบับที่สองซึ่งเป็นเช็คพิพาทแม้จำเลยจะเขียนเช็คพิพาทให้โจทก์ในวันดังกล่าวภายหลังที่ได้ทำสัญญากู้เงินดังกล่าวก็ตาม แต่วันออกเช็คย่อมหมายถึงวันที่ที่ลงในเช็ค เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทให้โจทก์สั่งจ่ายเงิน 100,000 บาท ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 ตรงตามวันครบกำหนดตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 แสดงว่า ขณะเช็คพิพาทถึงกำหนดสั่งจ่ายซึ่งถือว่าเป็นวันออกเช็คนั้น มูลหนี้ตามเช็คพิพาทมีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมายแล้ว กรณีหาใช่ขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จริงแต่หนี้นั้นไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยมีเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อนึ่งเมื่อพิจารณาจำนวนเงินที่ให้ใช้ตาม เช็คพิพาทไม่มากนัก ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไปโทษจำคุกเห็นสมควรรอการลงโทษให้จำเลยได้แต่ให้ปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30