คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1185/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตาม ป.อ. 358, 365 (3) ประกอบมาตรา 362 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์ถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเป็นการไม่ชอบ
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องของศาลชั้นต้น แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 จากสารบบความ สำหรับความผิดฐานบุกรุก เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในส่วนความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362, 365, 83, 91
ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362 ประกอบมาตรา 365 (3) (ที่ถูก มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานบุกรุกในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78) คงจำคุก 8 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าในระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา ก่อนจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเนื่องจากไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อีกต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 ซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดิน โจทก์ต้องถอนฟ้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคหนึ่ง ไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง ยกคำร้องขอ พิเคราะห์แล้ว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดต่อส่วนตัว ฐานทำให้เสียทรัพย์ที่โจทก์ขอถอนฟ้อง จึงยังไม่ถูกต้อง เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยสั่งคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสั่ง จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 จากสารบบความ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าวเป็นอันระงับไปในตัว คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โจทก์อ้างตนเอง นางอุสา และนายโชคชัย เป็นพยานเบิกความได้ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2131 และ 6672 ถึง 6674 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยรับซื้อฝากจากนายอุดม เมื่อวันที่ 28 และ 29 มีนาคม 2537 หลังจากพ้นกำหนดเวลาไถ่แล้วโจทก์เข้าไปตัดหญ้า ใส่ปุ๋ย ปลูกต้นไม้เพิ่มเติมในที่ดินพิพาท ประมาณปี 2552 ถึง 2553 โจทก์บอกให้นางอุสาซึ่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลป่าคลอกและนายหน้าขายที่ดินช่วยขายที่ดินพิพาท ต่อมาต้นเดือนมิถุนายน 2556 โจทก์ทราบจากนางอุสาว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาท โจทก์ขอให้นายโชคชัยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 พาไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับจำเลยที่ 1 แต่ตกลงกันไม่ได้ วันที่ 8 กรกฎาคม 2556 โจทก์จึงไปแจ้งความตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน จำเลยทั้งสองอ้างตนเอง และนายชะเอื้อน อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า เดิมที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นป่ารก เมื่อปี 2533 จำเลยที่ 1 เข้าไปถากถางปลูกบ้านพักอาศัย ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้และทิศตะวันออกอยู่ติดกับวัดโสภณวนาราม ขณะนายชะเอื้อนดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ได้จัดทำถนนคอนกรีตคั่นระหว่างที่ดินพิพาทกับวัดโสภณวนาราม โดยนางเฉิดฉิน มารดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งแนวเขตที่ดินพิพาท และพระครูโสภณพลธรรม เจ้าอาวาสวัดโสภณวนารามได้ทำหนังสือรับรองว่า จำเลยที่ 1 อยู่อาศัยในที่ดินพิพาท พิเคราะห์แล้ว นางอุสาพยานโจทก์เป็นตัวแทนของปวงชนในเขตเทศบาลตำบลปากคลอก ส่วนนายโชคชัยพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองท้องที่ที่เกิดเหตุ พยานโจทก์ทั้งสองรู้จักจำเลยที่ 1 มานาน และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความไปตามจริง ประกอบกับนายชะเอื้อนพยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เห็นจำเลยที่ 1 กับมารดาเข้าไปในทำกินในที่ดินพิพาทโดยปลูกผักสวนครัว สร้างขนำลักษณะมุงจากพักอาศัย สอดคล้องกับข้อความตามเอกสาร พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวคงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่เข้าไปเก็บพืชผลในที่ดินพิพาทเท่านั้น จึงไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทของโจทก์เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2556 อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์โดยปกติสุข แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เริ่มบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทของโจทก์ในเวลากลางวันหรือกลางคืน ทั้งสภาพบ้านยังปลูกสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปปลูกสร้างบ้านในเวลากลางวัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีในส่วนความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จากสารบบความศาลฎีกา โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป เพราะความผิดฐานดังกล่าวเป็นอันระงับไปในตัว
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา

Share