คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 710/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อ้างสัญญาเช่าที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา118 ว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานมิได้นั้นหากยังมีเอกสารที่ไม่ต้องด้วยข้อห้ามอื่นๆ อีกพอที่จะรับฟังเป็นหลักฐานได้ว่าได้มีสัญญาเช่ากันแล้วเอกสารที่ไม่ใช่สัญญาเช่านั้นถือว่าเป็นหลักฐานพอที่จะบังคับผู้เช่าได้แล้ว
กฎหมาย ในเรื่องค้ำประกันไม่ได้บังคับว่าต้องบรรยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้ แม้ปรากฏว่าเอกสารที่โจทก์ยังมิได้แสดงถึงข้อผูกพันระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้ก็ตามแต่เมื่อมีหนังสือให้ปรากฏว่าเป็นการค้ำประกันก็เป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้กับผู้ค้ำประกันแล้ว
ผู้ค้ำประกันจึงไม่พ้นจากความรับผิดฐานเป็นผู้ค้ำประกัน
ศาลชั้นต้นถือเอามติคณะเทศมนตรีลดค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระโจทก์ลง 1 ใน 4 คงให้จำเลยทั้งสองชำระเพียง 3 ใน 4 โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเต็มตามสัญญาแต่ก่อนศาลอุทธรณ์พิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องว่าไม่สามารถส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ได้โจทก์ไม่ติดใจที่จะอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1 แต่ขณะนั้นศาลอุทธรณ์ยังพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันร่วมกันใช้ค่าเช่าเต็มตามสัญญาจึงถือว่าเป็นการไม่ชอบเพราะถ้าโจทก์ประสงค์จะว่ากล่าวกับจำเลยที่ 1 ในปัญหาว่าควรลดค่าเช่าหรือไม่แล้วพิธีการตามกฎหมาย ก็มีอยู่ให้ทำได้แต่โจทก์ไม่ขอให้ทำฉะนั้นย่อมถือว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ยุติเพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้และโดยข้อกฎหมาย ที่ว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าความรับผิดของลูกหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงร่วมรับผิดเพียงเท่าที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเช่าท่าเรือโจทก์รวม7 ท่าคิดเป็นเงิน 44,160 บาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าแล้ว 22,720 บาท คงค้างอีก 18,440 บาทโจทก์มีหนังสือตักเตือนทวงถามหลายครั้งจำเลยทั้งสองบิดพลิ้วโจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้เงินค่าเช่าที่ค้างกับดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันพิจารณา

จำเลยที่ 2 ปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ที่ลงชื่อท้ายสัญญาเช่าในฐานะแทนผู้เช่าเมื่อนำเงินงวดแรกไปชำระสัญญาเช่าก็ได้ถูกแก้ไขปลอมแปลงเป็นผู้ค้ำประกัน โดยจำเลยไม่ทราบและไม่ให้ความยินยอม จำเลยจึงไม่มีความรับผิดตามสัญญาทั้งตามสัญญาเช่าก็ไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 เพราะทำไม่ถูกแบบโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงถึงข้อผูกพัน ถ้าถือว่าเป็นสัญญาค้ำประกันโจทก์ก็ได้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้โดยผู้ค้ำประกันไม่ทราบ จำเลยยอมพ้นความรับผิดโจทก์อาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ได้เพราะยังมีตัวอยู่อนึ่งคณะเทศมนตรีสมุทรปราการได้ลดค่าเช่าให้จำเลยที่ 1 ลง 1 ใน 4 ของเงินค่าเช่า หักแล้วจำเลยที่ 1 ยังค้างค่าเช่าอีก 8,150 บาทเท่านั้น โจทก์ไม่ชอบที่จะเรียกร้องเท่าจำนวนในฟ้อง

ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิจารณาแล้วฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าท่าเรือรายพิพาทของโจทก์เป็นเงินค่าเช่า 41,160 บาท โดยคณะเทศมนตรีได้ลดค่าเช่าลง 1 ใน 4 และจำเลยได้ชำระค่าเช่าแล้ว 22,720 บาท คงค้างชำระเพียง 8,150 บาทเท่านั้นและฟังต่อไปว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้และว่าข้อเถียงของจำเลยที่ 2 ที่ว่าโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ทราบนั้นฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดฐานผู้ค้ำประกันจึงพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าเช่า 8,150 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นทุกประการทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเว้นแต่เรื่องลดค่าเช่าเห็นว่าถึงแม้คณะเทศมนตรีผู้บริหารงานมีอำนาจให้เช่าและลดค่าเช่าท่าเรือ แต่เรื่องนี้ยังถือไม่ได้ว่าได้ลดค่าเช่าให้จำเลยและยังมิได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าได้ตกลงลดให้แล้วจำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้เงินค่าเช่าที่ค้าง 18,440 บาท จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน18,440 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ววินิจฉัยว่านายเคลิ้มอินทรัมพรรย์ นายกเทศมนตรีได้ทำสัญญาหมาย จ.4 ในฐานเป็นผู้แทนของเทศบาลเมืองสมุทรปราการไม่ใช่ทำเป็นการส่วนตัวและว่าศาลฎีกาไม่เห็นความจำเป็นต้องใช้เอกสารหมาย จ.9 ที่โจทก์อ้างประกอบจึงไม่วินิจฉัยข้อฎีกาที่ว่าไม่ควรที่ศาลจะรับฟังเอกสารฉบับนี้ ส่วนเอกสารหมาย จ.4 เฉพาะตัวสัญญาเช่าที่มิได้ ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนซึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่ายังมีเอกสารที่ไม่ต้องด้วยข้อห้ามอีกคือหมาย จ.8 หนังสือจำเลยที่ 1 ถึงนายกเทศมนตรี ฯ รับรองว่าเป็นผู้เช่าท่าเรือพิพาทและขอให้ลดค่าเช่ากับหมาย จ.5 ขอผัดผ่อนเวลาชำระค่าเช่าเท่านี้เป็นหลักฐานพอที่จะบังคับผู้เช่าได้แล้วส่วนที่จำเลยที่ 2 สู้ว่าข้อความในสัญญาเช่าหมาย จ.4 ไม่ผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิด ฐานผู้ค้ำประกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ามีพฤติการณ์หลายอย่างตามที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าท่าเรือพิพาทนี้ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่ว่าเอกสารของกลางมิได้แสดงถึงข้อผูกพันระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้นั้น กฎหมายในเรื่องค้ำประกันไม่ได้บังคับว่าต้องบรรยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้ ฉะนั้นเพียงแต่มีหนังสือให้ปรากฏว่าค้ำประกันก็เป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้กับผู้ค้ำประกันแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่พ้นความรับผิดฐานผู้ค้ำประกัน

ศาลชั้นต้นได้ถือเอามติคณะเทศมนตรีลดค่าเช่าลง 1 ใน 4 คงให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเช่าเพียง 3 ใน 4 แต่ศาลอุทธรณ์บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเช่าเต็มตามสัญญา จำเลยที่ 2 จึงฎีกาความข้อนี้มาด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเช่าเต็มตามสัญญานั้นปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องก่อนศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าไม่สามารถส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ได้ เพราะอพยพไปจากที่อยู่เดิม โจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1 กระนั้นศาลอุทธรณ์ยังพิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่าถ้าโจทก์ประสงค์จะว่ากล่าวกับจำเลยที่ 1 ในปัญหาว่าควรลดค่าเช่าหรือไม่แล้ว พิธีตามกฎหมายก็มีอยู่ให้ทำได้ แต่โจทก์ไม่ขอให้ทำ เพราะฉะนั้นความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงยุติเพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้โดยข้อกฎหมายที่ว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าความรับผิดของลูกหนี้ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงฟังขึ้นว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเช่าให้โจทก์เพียง 3 ใน 4 ของค่าเช่าตามสัญญา

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share