คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินสงเคราะห์รายเดือนที่โจทก์ได้รับ เป็นเงินสงเคราะห์ที่จ่ายจากกองทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ออกข้อบังคับไว้โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2494 มิใช่บำนาญ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการการจ่ายเงินสงเคราะห์นี้ ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 49ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 20กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเก็บเงินตามข้อ 5 แห่งข้อบังคับนี้ได้รับเงินสงเคราะห์โดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการและระเบียบการที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายบำนาญแต่พระราชกฤษฎีกา เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521มาตรา 4 ตรี มาตรา 4 จัตวา และมาตรา 4 ฉ มิใช่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั้งมิใช่ระเบียบการที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายบำนาญ จึงไม่จำต้องนำพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาอนุโลมใช้ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยข้างต้น จำเลยจะจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์มากน้อยเพียงใดเป็นดุลพินิจของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2531 มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนเดือนละ 14,166 บาท การคิดเงินสงเคราะห์รายเดือนได้รับสิทธิจากข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 14, 17 และ 20 ที่ระบุให้สิทธิผู้ปฏิบัติงานให้ได้รับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวหรือเป็นรายเดือน โดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการและระเบียบการที่เกี่ยวกับการจ่ายบำนาญ ต่อมาเมื่อวันที่ 1มกราคม 2532 ได้มีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 ทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพ(ช.ค.บ.) เพิ่มในอัตราร้อยละหกของจำนวนเบี้ยหวัดบำนาญและเงินช่วยค่าครองชีพที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับ คำนวณแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพเดือนละ 849 บาท แต่จำเลยจ่ายให้เพียงเดือนละ 800 บาท ยังขาดอยู่อีกเดือนละ 49 บาท จำเลยต้องจ่ายเงินส่วนที่ขาดให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 ถึงวันที่ 1กรกฎาคม 2536 คิดเป็นเงิน 2,646 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2533 ได้มีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2533 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533เป็นต้นไป ทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอีกร้อยละสิบของเงินสงเคราะห์รายเดือนและเงินช่วยค่าครองชีพที่ได้รับอยู่ คิดแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพเดือนละ1,501 บาท แต่จำเลยจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพเพิ่มให้โจทก์เพียงเดือนละ 1,160 บาท ยังขาดอยู่อีกเดือนละ 341 บาท จำเลยต้องจ่ายเงินส่วนที่ขาดให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 ถึงวันที่1 กรกฎาคม 2536 คิดเป็นเงิน 13,299 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีและต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535ได้มีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2535 ทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอีกร้อยละยี่สิบของเงินสงเคราะห์รายเดือนและเงินช่วยค่าครองชีพที่ได้รับอยู่ คิดแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพเดือนละ 3,303 บาท แต่จำเลยจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพเพิ่มให้โจทก์เพียงเดือนละ 1,000 บาท ยังขาดอยู่อีกเดือนละ2,303 บาท จำเลยต้องจ่ายเงินส่วนที่ขาดให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1เมษายน 2535 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2536 คิดเป็นเงิน 34,545 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยกับให้จำเลยจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพที่จ่ายขาดให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2536 จนตลอดชีวิตของโจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อโจทก์ออกจากงาน จำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย เงินดังกล่าวเรียกว่าเงินสงเคราะห์รายเดือน ตามข้อบังคับดังกล่าวมิได้กำหนดให้จำเลยต้องจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพแก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2533 และพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2535การที่จำเลยจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่โจทก์ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพ จำเลยจึงได้พิจารณาให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือแก่อดีตผู้ปฏิบัติงานของจำเลยมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับการปรับเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานอยู่ โดยพิจารณาจ่ายให้ตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงฐานะและความสามารถทางการเงินของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยได้จ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนตามหลักเกณฑ์ในพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 ส่วนตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2523 จำเลยจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนเท่ากับเงินที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว แต่เงื่อนเวลาต่างกัน โดยตามพระราชกฤษฎีกา เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2523 กำหนดให้ผู้รับบำเหน็จบำนาญอยู่ในวันที่ 1 มกราคม2523 มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพแต่จำเลยพิจารณาจ่ายให้ผู้ออกจากงานในวันที่ 1 ตุลาคม 2521 หรือก่อนหน้านั้น ส่วนผู้ออกจากงานหลังจากนั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ส่วนพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญฉบับต่อ ๆ มาจนถึงฉบับที่ 7 จำเลยได้จ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2533 (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2535 เห็นว่า เงินสงเคราะห์รายเดือนที่โจทก์ได้รับมิใช่บำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่เป็นเงินสงเคราะห์ที่จ่ายจากกองทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ออกข้อบังคับไว้โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2494 การจ่ายเงินสงเคราะห์นี้ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยข้อ 20 กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเก็บเงินตามข้อ 5 แห่งข้อบังคับนี้ให้ได้รับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวหรือเป็นรายเดือนโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และระเบียบการที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายบำนาญทั้งสิ้น แต่พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ตรี, มาตรา4 จัตวา และมาตรา 4 ฉ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532มาตรา 3 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2533 มาตรา 3 และ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2535 มาตรา 3 มิใช่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั้งมิใช่ระเบียบการที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายบำนาญด้วย จึงไม่จำต้องนำพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวมาอนุโลมใช้ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยข้างต้น การที่จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนแก่อดีตผู้ปฏิบัติงานรถไฟเช่นโจทก์โดยอนุโลมตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2523 แล้ว ต่อมาจำเลยจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่ผู้ได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยมิได้อนุโลมตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญฉบับต่อมาจนถึงปัจจุบันก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจัดการกองทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้มีอำนาจตามข้อบังคับจะพิจารณาเห็นควรนำพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญมาอนุโลมใช้หรือไม่เพียงใด การที่จำเลยจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพแก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนก็เพื่อให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนเช่นโจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มขึ้นเมื่อทางราชการเพิ่มเงินบำนาญให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญทุกครั้งฉะนั้น จำเลยจะจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนมากน้อยเพียงใดก็เป็นดุลพินิจของจำเลยด้วยเหตุดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพเพิ่มขึ้นตามฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share