แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่โจทก์มีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2533 และ 2534 นั้น พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงต้องยื่นแบบพิมพ์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 19 เดิม และจำเลยจะต้องประเมินและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ภายใน 10 ปี นับแต่วันครบกำหนดที่ให้ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 เดิม การที่จำเลยประเมินภาษีและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ภายใน 10 ปี จึงเป็นการประเมินภายในเวลาที่กำหนด ส่วนการยื่นแบบแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีประจำปีภาษี 2535 ถึง 2537 ต้องกระทำภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 19 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2534 และจำเลยจะต้องประเมินและแจ้งการประเมินภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 24 ทวิ โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการประจำปีภาษี 2535 ถึง 2538 แล้ว ดังนั้น จำเลยจะต้องประเมินและแจ้งการประเมินภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 หรือ ภายในวันสุดท้ายของเดือน กุมภาพันธ์ การที่จำเลยประเมินภาษีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 และแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จึงพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 24 ทวิ การประเมินจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดตามเอกสารท้ายฟ้อง กับให้จำเลยคืนเงินภาษี ๑,๒๔๑,๖๙๙.๖๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมินเล่มที่ ๑๑๑, ๑๐๘, ๘๑, ๗๘, ๕๘ เลขที่ ๔, ๑๓, ๑๙, ๔, ๑๑ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ เพิกถอนใบแจ้งคำชี้ขาด เล่มที่ ๒๔ เลขที่ ๖ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ เฉพาะปีภาษี ๒๕๓๓ ถึง ๒๕๓๗ แก้ไขใบแจ้งรายการประเมินเล่มที่ ๕๑, ๕๓, ๔๕, ๔๗, ๔๖ เลขที่ ๑๙, ๔, ๑๒, ๙, ๒๑ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ เล่มที่ ๑๓ เลขที่ ๑๙ ลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๓ แก้ไขใบแจ้งคำชี้ขาด เล่มที่ ๒๔ เลขที่ ๖ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ ยกเว้นปีภาษี ๒๕๓๓ ถึง ๒๕๓๗ และให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน ๑,๒๑๔,๘๑๓.๙๘ บาท แก่โจทก์ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดสามเดือนที่นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี ๒๕๓๓ ถึง ๒๕๓๘ และให้โจทก์ได้รับใบแจ้งรายการประเมินดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีอำนาจประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี ๒๕๓๓ ถึง ๒๕๓๗ หรือไม่ พิเคราะห์แล้วมาตรา ๒๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ. ศ. ๒๔๗๕ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเวลาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินและแจ้งรายการประเมินไปยังผู้รับประเมิน บทมาตรานี้บัญญัติเพิ่มเติมเข้ามาในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ. ศ. ๒๔๗๕ โดยมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔ นอกจากนี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ. ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๒ ยังได้บัญญัติยกเลิกมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๕ และให้ใช้ความใหม่แทน พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ เป็นต้นไป ผู้รับประเมินจะต้องยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔ และพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องประเมินและแจ้งการประเมินไปยังผู้รับประเมินภายในกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔ ทวิ ขณะที่โจทก์มีหน้าที่ยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี ๒๕๓๓ และ ๒๕๓๔ นั้น พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔ ยังไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงต้องยื่นแบบพิมพ์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๓) พ. ศ. ๒๔๘๕ หรือมาตรา ๑๙ เดิม และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจะต้องประเมินและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันครบกำหนดที่ให้ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา ๑๙ เดิม การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี ๒๕๓๓ และ ๒๕๓๔ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ และแจ้งการประเมินไปยังโจทก์เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ จึงเป็นการประเมินภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจกระทำได้ส่วนการยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี ๒๕๓๕ ถึง ๒๕๓๗ ต้องกระทำภายในเวลาที่มาตรา ๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๒ กำหนด และพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องประเมินและแจ้งการประเมินไปยังผู้รับประเมินภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๒๔ ทวิ จำเลยให้การยอมรับว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี ๒๕๓๕ ถึง ๒๕๓๗ แล้ว ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องประเมินและแจ้งการประเมินให้ผู้รับประเมินเสียภาษีภายในเวลาไม่เกิน ๕ ปี นับแต่ วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา ๑๙ หรือภายในวันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี ๒๕๓๕ ถึง ๒๕๓๗ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ และแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ เป็นการประเมินเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา ๒๔ ทวิ การประเมินจึง ไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน ๑,๑๗๑,๐๓๔.๗๙ บาท แก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๓๐,๐๐๐ บาท แทนโจทก์