แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นพิพาทไว้ว่าจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต การที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริตจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เมื่อคดีรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์รุกล้ำที่ดินโจทก์จำเลยที่ 1 จึงต้องรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินโจทก์ตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนอาคารที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสามหากไม่ดำเนินการให้โจทก์รื้อถอนได้เอง และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสามมิได้รุกล้ำที่ดินโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2536 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 20073เนื้อที่ 1 งาน 79 ตารางวา จากนายปรีชา พึ่งสาย ซึ่งด้านที่ติดต่อที่ดินของโจทก์ มีหลักเขตเลขที่ อ.9467 และเลขที่ อ.8520 ปักอยู่แล้ว จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินตามแนวเขตดังกล่าวมาโดยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ต่อมาเมื่อวันที่29 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวในนามเดิมออกเป็น 7 โฉนด เป็นเนื้อที่รวมกันเท่าเดิม โดยโจทก์มาระวังแนวเขต และลงชื่อรับรองความถูกต้องของหลักเขตต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว ที่ดินที่แบ่งแยกแล้วแปลงติดต่อกับที่ดินโจทก์ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 48047 เนื้อที่ 32 ตารางวาจำเลยที่ 1 ตกลงให้บุคคลภายนอกออกทุนสร้างอาคารบนที่ดินเพื่อขายอาคารพร้อมที่ดิน ในราคาประมาณห้องละ 1,500,000 บาทโดยจำเลยที่ 1 จะได้เงินเฉพาะราคาที่ดินตารางวาละ 30,000 บาทนับแต่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินมาจนกระทั่งแบ่งแยก จำเลยได้ครอบครองที่ดินโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วย เจตนาเป็นเจ้าของหากมีที่ดินส่วนของโจทก์อยู่ในที่ดินที่จำเลยที่ 1ครอบครองจำเลยที่ 1 ก็ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ส่วนนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว ขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินโจทก์เนื้อที่ 3 ตารางวาเศษ เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382และมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินให้จดทะเบียนแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 20072 ตำบลทุ่งครุอำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ส่วนบริเวณที่ดินหลักเขตที่ อ.9467 และ 4711 เนื้อที่ประมาณ 3 ตารางวา ที่มีอาคารปลูกอยู่เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แทนโจทก์ และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ขาดประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 48047ตำบลทุ่งครุ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานครจำนวน960,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 28 เมษายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะไปว่ากล่าวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 ได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์รุกล้ำที่ดินโจทก์เนื้อที่ประมาณ 3 ตารางวา บริเวณหมายเลข 1, 2,3, 4 เส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริตเห็นว่า ในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นพิพาทไว้ว่าจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริตการที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริตจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังนั้น เมื่อคดีรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์รุกล้ำที่ดินโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินโจทก์ตามฟ้อง สำหรับเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 1ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์ อันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิต่อโจทก์อย่างไรบ้าง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
อนึ่ง ที่โจทก์มีคำขอขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการรื้อถอนอาคารพาณิชย์ที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ก็ให้โจทก์ดำเนินการรื้อถอนตามกฎหมายได้เอง โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น เห็นว่า โจทก์ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ โจทก์จะดำเนินการเองมิได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารในส่วนที่รุกล้ำที่ดินโจทก์ตามแผนที่พิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์