แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยซึ่งปลูกเพิงพักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทของโจทก์ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินอื่นทุกแปลงของหมู่บ้านวิภาวดี โดยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ แม้ข้อเท็จจริงตามสำนวนไม่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าในขณะยื่นคำฟ้องเกินเดือนละ10,000 บาท แต่ที่ดินพิพาทมิได้ตั้งอยู่ในทำเลการค้า และจำเลยใช้ที่ดินพิพาทปลูกเพิงพักอาศัยเนื้อที่เพียงเล็กน้อย ที่ดินพิพาทจึงอาจให้เช่าในขณะยื่นฟ้องได้ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท และศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 34,000 บาทจำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาทคดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง และวรรคหนึ่งตามลำดับ ลักษณะสำคัญของภารจำยอมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1387 คือต้องมีอสังหาริมทรัพย์อย่างน้อยสองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นของเจ้าของต่างคนกันและอสังหาริมทรัพย์หนึ่งต้องตกอยู่ในภาระรับกรรมบางอย่าง หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่อีกอสังหาริมทรัพย์หนึ่ง อสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ในภาระรับกรรมนั้นเรียกว่าภารยทรัพย์ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์นั้นเรียกสามยทรัพย์ ภารจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นสำหรับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ผู้ที่จะกล่าวอ้างว่าได้ภารจำยอมเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นภารยทรัพย์จะต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์ จำเลยปลูกเพิงพักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์เพื่อทำหน้าที่ดูแลแท็งก์น้ำบาดาลประจำหมู่บ้านเท่านั้น มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์อื่นที่จะเป็นสามยทรัพย์ต่างหากจากที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่อาจอ้างสิทธิภารจำยอมของผู้อื่นขึ้นต่อสู้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลูกเพิงพักอาศัยอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 47273 ของโจทก์ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่ดินหลายครั้งแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดเพียง 100,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อปี 2523 ผู้จัดสร้างหมู่บ้านวิภาวดีได้สร้างแท็งค์น้ำบาดาลและติดตั้งเครื่องสูบน้ำพร้อมวางท่อส่งและท่อสูบน้ำบาดาลบนที่ดินดังกล่าวซึ่งบริษัทได้มอบให้จำเลยเป็นผู้ดูแล จำเลยได้ปลูกเพิงพักอาศัยอยู่ใต้แท็งค์น้ำบาดาลมาตั้งแต่ปี 2525 ดังนั้นที่ดินตรงบริเวณแท็งค์น้ำดังกล่าวจึงเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินอื่นทุกแปลงของหมู่บ้านวิภาวดี โจทก์ย่อมกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 47273 โดยให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเพิงพักอาศัย (ไม่รวมแท็งค์น้ำและเครื่องสูบน้ำ) ออกไป กับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 34,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยซึ่งปลูกเพิงพักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทของโจทก์ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินอื่นทุกแปลงของหมู่บ้านวิภาวดี มิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์แม้ข้อเท็จจริงตามสำนวนไม่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าในขณะยื่นคำฟ้องเกินเดือนละ 10,000 บาท หรือไม่ แต่ที่ดินพิพาทมิได้ตั้งอยู่ในทำเลการค้า และจำเลยใช้ที่ดินพิพาทปลูกเพิงพักอาศัยเนื้อที่เพียงเล็กน้อยที่ดินพิพาทจึงอาจให้เช่าในขณะยื่นฟ้องได้ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท และศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 34,000 บาท จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง และวรรคหนึ่งตามลำดับ ที่จำเลยฎีกาว่าค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์เป็นค่าเสียหายในอนาคตและไกลกว่าเหตุซึ่งสูงเกินความเป็นจริงนั้นเป็นฎีกาที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยมีสิทธิยกเรื่องภารจำยอมขึ้นต่อสู้โจทก์หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงอื่นในหมู่บ้านวิภาวดี จำเลยคงทำหน้าที่ดูแลแท็งก์น้ำบาดาล ประจำหมู่บ้านวิภาวดีเท่านั้น เห็นว่า ลักษณะสำคัญของภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 คือต้องมีอสังหาริมทรัพย์อย่างน้อยสองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นของเจ้าของต่างคนกัน และอสังหาริมทรัพย์หนึ่งต้องตกอยู่ในภาระรับกรรมบางอย่างหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่อีกอสังหาริมทรัพย์หนึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ในภาระรับกรรมนั้นเรียกว่าภารยทรัพย์ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์นั้นเรียกสามยทรัพย์ ภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นสำหรับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ผู้ที่จะกล่าวอ้างว่าได้ภารจำยอมเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นภารยทรัพย์ จะต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์จำเลยมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์อื่นที่จะเป็นสามยทรัพย์ต่างหากจากที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่อาจอ้างสิทธิภารจำยอมของผู้อื่นขึ้นต่อสู้โจทก์
พิพากษายืน