คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อกฎหมายซึ่งจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225ประกอบด้วยมาตรา31แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 การที่โจทก์ทั้งสองมีเรื่องทะเลาะวิวาทและพูดจาโต้ตอบกับพ.ครูอีกคนหนึ่งในโรงเรียนเดียวกันว่า”วันนี้จะเปิดฉากด่าไอ้หมาตัวผู้”ก็ดี”งั้นตีกันเลยไหมจะเป็นกรรมการให้”ก็ดีแม้จะเป็นการใช้วาจาไม่สุภาพอยู่บ้างก็เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างโจทก์ทั้งสองกับพ. ไม่เกี่ยวกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกรณีเช่นนี้แม้จะฟังว่าเป็นการผิดจรรยามารยาทของการเป็นครูตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครูพ.ศ.2526อันถือว่าเป็นข้อบังคับของโรงเรียนจำเลยซึ่งจำเลยมีสิทธิจะเลิกจ้างได้ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงตามข้อ47(3)แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานและไม่ใช่กรณีเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามข้อ47(2)แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว(ค่าครองชีพ)ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเป็นเงินที่ผู้รับใบอนุญาตขอเบิกจากทางราชการนำมาจ่ายให้แก่ครูเพื่อเป็นการช่วยเหลือครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนถือไม่ได้ว่าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงนำมารวมกับเงินเดือน(ค่าจ้าง)เดือนสุดท้ายเพื่อคำนวณค่าชดเชยไม่ได้ ป.พ.พ.มาตรา582เป็นบทบัญญัติถึงวิธีบอกเลิกสัญญาสำหรับคู่สัญญาที่ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือนและจำเลยบอกเลิกการจ้างโจทก์ทั้งสองในวันที่1พฤษภาคม2528โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าการบอกกล่าวล่วงหน้าในคราวถัดไปจึงมีผลเมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายน2528โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าสองเดือนตามฟ้อง.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยโจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2524 และวันที่21 สิงหาคม 2523 ตามลำดับ โดยประจำอยู่ที่โรงเรียนพณิชยการสามเสนโจทก์ที่ 1 ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 2,625 บาท โจทก์ที่ 2ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้าย เดือนละ 2,905 บาท กับได้รับค่าครองชีพอีกคนละ 200 บาทต่อเดือน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2528 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด และไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 16,950 บาท และ18,630 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 5,650 บาท และ6,210 บาทตามลำดับ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติยศและชื่อเสียงของตนเอง เป็นเหตุให้จำเลยและโรงเรียนของจำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นการฝ่าฝืนระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครูพ.ศ. 2526 จำเลยได้เรียกโจทก์ทั้งสองและครูที่เกี่ยวข้องมาว่ากล่าวตักเตือน แต่โจทก์ทั้งสองหาได้เชื่อฟังคำสั่งของจำเลยไม่ เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ทั้งเป็นการจงใจทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรงตามข้อ 46 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ทั้งสองยังไม่พอฟังว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยกรณีร้ายแรงตามข้อ 47(3) และมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายตามข้อ 47(2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าชดเชย เงินค่าครองชีพเดือนละ 200 บาท ต้องนำมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณค่าชดเชยด้วย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 16,950 บาท โจทก์ที่ 2 18,630 บาท และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,650 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 6,210 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อแรกว่าคดีนี้เป็นข้อพิพาทว่าด้วยแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสองซึ่งมีอาชีพเป็นครูในโรงเรียนเอกชนกับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนและเป็นผู้รับใบอนุญาต จึงต้องอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนพ.ศ. 2525 ตลอดจนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวและระเบียบคุรุสภา ตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 ไม่ว่าจะเป็นสัญญาจ้าง และการปฏิบัติตนระหว่างโจทก์ทั้งสองที่เป็นลูกจ้างกับจำเลยในฐานะนายจ้างซึ่งต้องใช้บทบัญญัติหรือกฎหมายเฉพาะที่ออกมาใช้บังคับเป็นพิเศษกับผู้มีอาชีพเป็นครูโรงเรียนเอกชน จะนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นบทบัญญัติโดยทั่วไป มาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้นั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้ออุทธรณ์ดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 วินิจฉัยจึงไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สองว่า การที่โจทก์ทั้งสองจงใจฝ่าฝืนระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ.2526 โดยการแสดงกิริยามารยาทที่ไม่ดีงามโดยใช้คำพูดไม่สุภาพ เช่น”หน้าตัวเมีย” “วันนี้จะเปิดฉากด่าอ้ายหมาตัวผู้” “งั้นตีกันเลยไหมจะเป็นกรรมการให้” อีกทั้งยังพูดในลักษณะเป็นการทะเลาะส่งเสียงดังในบริเวณโรงเรียนซึ่งมีบุคคลภายนอกและนักเรียนรู้เห็น จากการกระทำดังกล่าวของโจทก์ทั้งสอง ทำให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนได้รับความเสียหายไปถึงกิจการงานของจำเลยโดยตรง โจทก์ทั้งสองอยู่ในฐานะสังคมยกย่องว่าเป็นแม่พิมพ์ของชาติ กระทำเช่นนี้จึงถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยกรณีร้ายแรงและเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่โจทก์ทั้งสองจะกล่าวถ้อยคำดังกล่าวข้างต้น ก็เนื่องมาจากนายพีระศักดิ์ซึ่งเป็นครูคนหนึ่งในโรงเรียน ได้พูดจาในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 โดยพูดทำนองว่าโจทก์ที่ 1 ได้เสียกับตนการพูดเช่นนี้ทำให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นหญิงสาวได้รับความเสียหายมากโจทก์ที่ 1 จึงไปต่อว่านายพีระศักดิ์ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2528ที่ห้องพักและใช้คำพูดว่า นายพีระศักดิ์หน้าตัวเมีย ซึ่งแม้จะมีผู้อื่นได้ยินบ้าง แต่ก็เป็นการพูดกันในห้องพักส่วนตัว ส่วนที่โจทก์ทั้งสองพูดว่า “วันนี้จะเปิดฉากด่าอ้ายหมาตัวผู้” และคำว่า “งั้นตีกันเลยไหมจะเป็นกรรมการให้” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่4 เมษายน 2528 ก็มีสาเหตุมาจากนายพีระศักดิ์อีก เนื่องจากในวันดังกล่าว ขณะที่โจทก์ทั้งสองและนักเรียนหญิงคนหนึ่งกำลังเดินออกจากโรงเรียนจะกลับบ้าน ได้พบนายพีระศักดิ์ที่หน้าประตูโรงเรียน นายพีระศักดิ์ได้พูดกับโจทก์ที่ 1 ว่า “ระวังตัวให้ดี จะดักตีหัวปากซอย” ส่อแสดงให้เห็นว่านายพีระศักดิ์ยังมีเรื่องกินใจกับโจทก์ที่ 1 อยู่ พูดแล้วนายพีระศักดิ์ได้เดินเข้าไปในโรงอาหารของโรงเรียนโจทก์ทั้งสองเดินตามไปเพื่อสอบถามแล้วเกิดต่อว่าโต้เถียงกันขึ้นการที่โจทก์ที่ท 1 พูดกับนายพีระศักดิ์ว่า “วันนี้จะเปิดฉากด่าอ้ายหมาตัวผู้” และพูดว่า “อดทนมานาน 3 เดือนทนไม่ได้แล้วนะ ระวังตัวให้ดีนะ” กับโจทก์ที่ 2 พูดว่า “งั้นตีกันเลยไหม จะเป็นกรรมการให้” นายพีระศักดิ์พูดกับโจทก์ที่ 2 ว่า “อาจารย์อีกคนหนึ่งด้วยไม่ต้องยุ่ง” และพูดอีกว่า “อย่างอาจารย์ไม่มีเหลี่ยมแล้ว อย่ามายุ่งดีกว่า ระวังตัวให้ดีจะดักตีหน้าซอยทั้งสองคน” แล้วโจทก์ที่ 2พูดว่า “งั้นตีตรงนี้เลยซิ จะตีหน้าซอยทำไม” ศาลฎีกาเห็นว่า การพูดจาโต้ตอบกันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับนายพีระศักดิ์นั้น แม้จะใช้วาจาไม่สุภาพอยู่บ้างก็เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างโจทก์ทั้งสองกับนายพีระศักดิ์ไม่เกี่ยวกับจำเลยและขณะนั้นโรงเรียนก็ปิดเทอมแล้วไม่มีการเรียนการสอน ผู้ที่มาติดต่อกับโรงเรียนหากจะมีอยู่บ้างก็คงไม่กี่คน การกระทำของโจทก์ทั้งสองแม้จะฟังว่าเป็นการผิดจรรยามารยาทของการเป็นครูตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2526 อันถือว่าเป็นข้อบังคับของโรงเรียนจำเลยซึ่งจำเลยผู้เป็นนายจ้างมีสิทธิจะเลิกจ้างได้ แต่ความผิดที่โจทก์ทั้งสองกระทำไปนั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน และการกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นของโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้จงใจที่ให้จำเลยหรือโรงเรียนของจำเลยได้รับความเสียหาย ตามข้อ 47(2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแต่ประการใด ฉะนั้นเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานแล้ว จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สามว่า ค่าครองชีพเดือนละ 200 บาท ที่โจทก์ทั้งสองรับไปนั้น เป็นเงินที่จ่ายไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการช่วยเหลือครูใหญ่ และครูโรงเรียนเอกชน เป็นเงินสมทบเงินเดือนและเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว พ.ศ. 2526 จึงนำรวมกับเงินเดือนเพื่อเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (ค่าครองชีพ) ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวข้างต้น (เอกสารหมาย ล.1) เป็นเงินที่ผู้รับใบอนุญาตขอเบิกจากทางราชการนำมาจ่ายให้แก่ครู เพื่อเป็นการช่วยเหลือครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน ถือไม่ได้ว่าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสอง จึงนำมารวมกับเงินเดือน (ค่าจ้าง) เดือนสุดท้ายเพื่อคำนวณค่าชดเชยไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางนำค่าครองชีพจำนวน 200 บาท มารวมกับเงินเดือนเพื่อคำนวณค่าชดเชยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นหากจำเลยจะต้องจ่ายแล้ว จำเลยควรจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่ากับค่าจ้างเพียงเดือนเดียว มิใช่เท่ากับค่าจ้างสองเดือนตามฟ้องนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582เป็นบทบัญญัติถึงวิธีบอกเลิกสัญญาสำหรับคู่สัญญาที่ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าใด ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน และจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองในวันที่ 1 พฤษภาคม 2528 โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า การบอกกล่าวล่วงหน้าในคราวถัดไปจึงมีผลเมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2528 ดังนั้นโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าสองเดือนตามฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน15,350 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 17,430 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.”

Share