คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7074/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 180 ให้อำนาจโจทก์หรือจำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหรือคำให้การได้ กรณีไม่มีการชี้สองสถานต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฯลฯ บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิโจทก์หรือจำเลยที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องหรือคำให้การ แต่หาได้เป็นบทบัญญัติบังคับศาลที่จะต้องอนุญาตตามคำร้องของโจทก์จำเลยเสมอไปไม่ เมื่อมีเหตุอันสมควรศาลสามารถใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้องของโจทก์จำเลยได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาคำร้องเป็นเรื่อง ๆ ไป กรณีตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การจำเลยซึ่งยื่นหลังจากสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จแล้ว เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมในปัญหาว่า ผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยเรื่องที่จำเลยต้องการสืบพยานเพิ่มเติมตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริจาคน้ำเชื้อให้แก่แพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ในการผสมเทียมของหญิงอื่นที่มิใช่ภริยาของผู้บริจาคไม่ถือว่าผู้บริจาคเป็นบิดาของเด็กที่ถือกำเนิดมาตามกฎหมายมลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลยแต่ข้อเท็จจริงที่ได้จากการนำสืบของโจทก์โดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยตกลงอยู่กินด้วยกันโดยแต่งงานกันตามประเพณี แต่ไม่สามารถมีบุตรด้วยกันตามธรรมชาติได้จึงใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์โดยการทำกิ๊ฟท์นำสเปิร์มของจำเลยไปผสมกับไข่ของโจทก์ในหลอดแก้ว เมื่อมีการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้วนำกลับเข้าไปไว้ในร่างกายของโจทก์ ทำให้เกิดบุตรแฝดสามคน คือผู้เยาว์ทั้งสามในคราวเดียวกัน การที่โจทก์และจำเลยซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาประสงค์จะมีบุตรด้วยกันแต่ไม่สามารถมีบุตรตามธรรมชาติได้จึงได้ไปพบแพทย์ด้วยกันเพื่อใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์หลายครั้ง เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยสมัครใจจะมีบุตรร่วมกัน ไม่ใช่มีลักษณะเป็นการบริจาคตามความหมายของกฎหมายมลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังที่จำเลยอ้าง ดังนั้นกรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนรับเด็กชาย ช. เด็กชาย ธ. และเด็กชาย ศ. ผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หรือพิพากษาว่าผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าเล่าเรียนของผู้เยาว์ทั้งสามในระดับต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ และในชั้นอุดมศึกษาจนสำเร็จการศึกษาสูงสุด เป็นเงิน 50,000,000 บาท ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสามเป็นรายเดือน เดือนละ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณเดือนละ 408,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าผู้เยาว์ทั้งสามจะบรรลุนิติภาวะ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ภายหลังที่ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จแล้ว ก่อนนัดฟังคำพิพากษาจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนรับเด็กชาย ช. เด็กชาย ธ. และเด็กชาย ศ. ผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยชำระค่าเล่าเรียนให้แก่ผู้เยาว์ทั้งสาม ดังนี้ ชั้นอนุบาล (อายุระหว่าง 4 ปี ถึง 6 ปี) ปีละ 10,000 บาทต่อคน ชั้นประถมศึกษา (อายุระหว่าง 7 ปี ถึง 12 ปี) ปีละ 12,000 บาทต่อคน ชั้นมัธยมศึกษา (อายุระหว่าง 13 ปี ถึง 18 ปี) ปีละ 15,000 บาทต่อคน และชั้นปริญญาตรี (อายุระหว่าง 19 ปี ถึง 22 ปี) ปีละ 20,000 บาทต่อคน ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสาม ดังนี้ อายุตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี เดือนละ 15,000 บาทต่อคน อายุตั้งแต่ 11 ปี ถึง 15 ปี เดือนละ 20,000 บาทต่อคน และอายุตั้งแต่ 16 ปี ถึง 20 ปี เดือนละ 25,000 บาทต่อคน นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 ตุลาคม 2552) เป็นต้นไป จนกว่าผู้เยาว์ทั้งสามจะบรรลุนิติภาวะเว้นแต่ค่าเล่าเรียนให้ชำระจนกว่าผู้เยาว์ทั้งสามจะเรียนจบปริญญาตรี แต่ผู้เยาว์ทั้งสามจะต้องมีอายุไม่เกิน 22 ปี ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นมารดาของเด็กชาย ช. เด็กชาย ธ. และเด็กชาย ศ. ผู้เยาว์ทั้งสามซึ่งเป็นฝาแฝด เกิดวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 จำเลยเป็นชาวอเมริกัน จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก เข้ามาทำงานในประเทศไทยเกี่ยวกับงานด้านวิเคราะห์เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2544 ถึงปี 2552 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2547 โจทก์แต่งงานกับจำเลยตามประเพณีและจัดงานเลี้ยงที่บ้านของโจทก์ จังหวัดอุดรธานี จำเลยยินยอมให้แพทย์นำสเปิร์มของจำเลยไปใช้ในการทำกิ๊ฟท์เพื่อมีบุตร ผลการตรวจลายพิมพ์ ดีเอ็นเอ ของโจทก์จำเลยและผู้เยาว์ทั้งสาม ปรากฏว่าผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรของโจทก์และจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ผู้เยาว์ทั้งสามไม่ได้เกิดจากการร่วมประเวณีตามธรรมชาติระหว่างโจทก์และจำเลย ตามกฎหมายแห่งมลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลย เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยขออนุญาตเพิ่มเติมคำให้การ หลังจากที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จแล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ให้อำนาจโจทก์หรือจำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหรือคำให้การได้ กรณีไม่มีการชี้สองสถานต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฯลฯ บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจโจทก์หรือจำเลยที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องหรือคำให้การ แต่หาได้เป็นบทบัญญัติบังคับศาลที่จะต้องอนุญาตตามคำร้องของโจทก์จำเลยเสมอไปไม่ เมื่อมีเหตุอันสมควรศาลสามารถใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้องของโจทก์จำเลยได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาคำร้องเป็นเรื่อง ๆ ไป กรณีตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การจำเลยซึ่งยื่นหลังจากสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จแล้ว เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมอ้างเหตุว่า ผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยหรือไม่ กรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อที่จำเลยต้องการสืบพยานเพิ่มเติมตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริจาคน้ำเชื้อให้แก่แพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ในการผสมเทียมของหญิงอื่นที่มิใช่ภริยาของผู้บริจาคไม่ถือว่าผู้บริจาคเป็นบิดาของเด็กที่ถือกำเนิดมา แต่ข้อเท็จจริงที่ได้จากการนำสืบของโจทก์โดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยตกลงอยู่กินด้วยกันโดยแต่งงานกันตามประเพณี แต่ไม่สามารถมีบุตรด้วยกันตามธรรมชาติได้ จึงใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์โดยการทำกิ๊ฟท์นำสเปิร์มของจำเลยไปผสมกับไข่ของโจทก์ในหลอดแก้ว เมื่อมีการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้วนำกลับเข้าไปไว้ในร่างกายของโจทก์ ทำให้เกิดบุตรแฝดสามคน คือผู้เยาว์ทั้งสามในคราวเดียวกัน การที่โจทก์และจำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาประสงค์จะมีบุตรด้วยกันแต่ไม่สามารถมีบุตรตามธรรมชาติได้จึงได้ไปพบแพทย์ด้วยกันเพื่อใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์หลายครั้ง เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยสมัครใจจะมีบุตรร่วมกัน ไม่ใช่มีลักษณะเป็นการบริจาคตามความหมายของกฎหมายมลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังที่จำเลยอ้าง ดังนั้นกรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้องอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับเรื่องการเกิดของผู้เยาว์ทั้งสาม โจทก์มีระเบียนผู้ป่วยของโรงพยาบาลสินแพทย์ มาแสดงว่าโจทก์กับจำเลยไม่สามารถมีบุตรตามธรรมชาติได้จึงไปทำการผสมเทียมโดยวิธีอิ๊กซี่ที่โรงพยาบาลสินแพทย์ ทำให้ได้บุตรแฝด 3 คน คือ ผู้เยาว์ทั้งสาม โจทก์นำพลอากาศตรีนายแพทย์วิชาญ มาเบิกความประกอบว่า โจทก์ จำเลย และผู้เยาว์ทั้งสามได้ไปตรวจดีเอ็นเอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ผลการตรวจระบุว่า ผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรของโจทก์กับจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่ผู้เยาว์ทั้งสาม
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเล่าเรียนจนกว่าผู้เยาว์ทั้งสามจะเรียนจบปริญญาตรี นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บัญญัติว่า บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรระหว่างที่เป็นผู้เยาว์เท่านั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนนี้จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ชำระค่าเล่าเรียนจนกว่าผู้เยาว์ทั้งสามจะบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share