แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นมารดาของร้อยตรี ท. เพื่อขอรับเงินบำนาญพิเศษจากโจทก์ ความจริงมิได้เป็นมารดา อาจเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่การที่โจทก์ได้จ่ายเงินบำนาญพิเศษให้จำเลยที่ 1 โดยมีการทำสัญญาว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยอมจะชดใช้เงินที่รับไปโดยไม่มีสิทธิหรือส่วนที่ได้รับเกินสิทธิคืนเป็นการจะชดใช้เงินคืนตามสัญญา ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่ามีอายุความเท่าใด จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชดใช้เงินดังกล่าวคืน จึงมีอายุความ 10 ปี จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1ต้องชดใช้เงินบำนาญพิเศษคืนแก่โจทก์แต่ไม่สามารถชดใช้เงินคืนได้ จำเลยที่ 2 จะชดใช้แทน จำเลยที่ 2 เข้าใจถูกต้องทุกประการที่จะยอมรับผิดต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 เข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1เป็นมารดาของร้อยตรี ท. มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ความเข้าใจผิดของจำเลยที่ 2 มิใช่สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญาค้ำประกัน ไม่เป็นเหตุให้สัญญาค้ำประกันตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า พลทหารทองสูนย์ จำปาอ่อน ถูกคัดเลือกเข้ารับราชการทหารบก สังกัดกองพันทหารราบ ที่ 1 กรมผสมที่ 13 ซึ่งเป็นส่วนราชการของโจทก์ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2521ในระหว่างปฏิบัติราชการตามคำสั่งของโจทก์พลทหารทองสูนย์ถึงแก่กรรมเพื่อตอบสนองความดี โจทก์มีคำสั่งปูนบำเหน็จพิเศษเลื่อนเงินเดือนและยศเป็นร้อยตรีทองสูนย์ และแจ้งให้ทายาททราบเพื่อขอรับเงินบำนาญพิเศษตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2522จำเลยที่ 1 จงใจอ้างว่าเป็นมารดาของร้อยตรีทองสูนย์ และยื่นแบบคำขอรับเงินบำนาญพิเศษต่อโจทก์ ความจริงจำเลยที่ 1มิใช่มารดาหรือทายาทของร้อยตรีทองสูนย์ซึ่งจะมีสิทธิได้รับเงินบำนาญพิเศษ โจทก์หลงเชื่อคำอ้างของจำเลยที่ 1 จึงอนุมัติจ่ายเงินบำนาญพิเศษและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับรองการชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการลงวันที่ 1 สิงหาคม 2522 โดยรับรองว่าเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย หากปรากฏภายหลังว่ามีทายาทผู้มีสิทธิอื่นจำเลยที่ 1ยอมชดใช้เงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิคืนแก่ทางราชการ จำเลยที่ 2ทราบข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยอมเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ โดยสัญญาว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชดใช้เงินคืนแก่โจทก์หรือตายหรือหลบหนี จำเลยที่ 2 ยอมชดใช้แทนจนครบ นับแต่โจทก์อนุมัติ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินบำนาญพิเศษและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2521 ถึงวันที่31 สิงหาคม 2526 เป็นเงิน 104,577.49 บาท ต่อมานางบุญเรือน แสนอุบล ทำหนังสือร้องเรียนต่อกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่มารดาของร้อยตรีทองสูนย์ โจทก์จึงมีคำสั่งระงับการจ่ายเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2526เป็นต้นมา ได้สอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่มารดาของร้อยตรีทองสูนย์ ครั้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2528โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 104,577.49 บาท คืนแก่โจทก์แล้วในวันที่ 14 สิงหาคม 2528 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ยอมรับว่าไม่ใช่มารดาของร้อยตรีทองสูนย์ แต่ไม่สามารถคืนเงินที่รับไปได้เนื่องจากฐานะยากจน โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ร้อยตรีทองสูนย์ จำปาอ่อน เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 กับนายไสย์ จำปาอ่อน จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเพราะสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญา โดยจำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญพิเศษจากทางราชการตามเอกสารหลักฐานที่จำเลยที่ 1 อ้างและแสดงสัญญาค้ำประกันจึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2524 และโจทก์งดจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2526 โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2529 เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ร้อยตรีทองสูนย์ จำปาอ่อน รับราชการทหารบก สังกัดกองพันทหารราบที่ 1กรมผสมที่ 13 อันเป็นส่วนราชการของโจทก์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม2521 ร้อยตรีทองสูนย์ได้ถึงแก่กรรมในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการจำเลยที่ 1 ได้ยื่นเรื่องราวขอรับเงินบำนาญพิเศษของร้อยตรีทองสูนย์โดยอ้างว่าเป็นมารดา โจทก์อนุมัติให้จ่ายเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับรองการชดใช้เงินคืน ตามหนังสือสัญญารับรองการชดใช้เงินคืนเอกสารหมาย จ.5และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับรองการชดใช้เงินคืน ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่มารดาของร้อยตรีทองสูนย์ โจทก์สอบสวนแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่มารดาของร้อยตรีทองสูนย์จึงงดจ่ายเงินบำนาญพิเศษแก่จำเลยที่ 1และเรียกเงินที่จ่ายไปทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2521ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2526 เป็นเงิน 104,577.49 บาทคืน…
ข้อต้องวินิจฉัยประการที่สามมีว่า คดีขาดอายุความหรือไม่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เหตุเกิดจากการละเมิดของจำเลยที่ 1 มีอายุความ 1 ปี เมื่อจำเลยที่ 2 ค้ำประกัน โจทก์ไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 ภายใน 1 ปี จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่าในเบื้องต้นการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นมารดาของร้อยตรีทองสูนย์เพื่อขอรับเงินบำนาญพิเศษจากโจทก์ ความจริงมิได้เป็นมารดา อาจเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่การที่โจทก์ได้จ่ายเงินบำนาญพิเศษให้จำเลยที่ 1โดยมีการทำสัญญาว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยอมจะชดใช้เงินที่รับไปโดยไม่มีสิทธิหรือส่วนที่ได้รับเกินสิทธิคืนตามเอกสารหมาย จ.5เป็นการจะชดใช้เงินคืนตามสัญญา และโจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่ามีอายุความเท่าใด จึงถือว่ามีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ค้ำประกันการชดใช้เงินคืนตามเอกสารหมาย จ.5 จึงมีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ข้อต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมหรือไม่ จำเลยที่ 2ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 สำคัญผิดโดยเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นมารดาของร้อยตรีทองสูนย์ เห็นว่า เป็นความเข้าใจของจำเลยที่ 2 เองแล้วไปทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ แต่ไม่สามารถชดใช้เงินคืนได้ จำเลยที่ 2 จะชดใช้แทนจนครบถ้วน ในการทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 เข้าใจถูกต้องทุกประการที่จะยอมรับผิดต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 เข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นมารดาของร้อยตรีทองสูนย์ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดความเข้าใจผิดของจำเลยที่ 2 มิใช่สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญาค้ำประกัน ไม่เป็นเหตุให้สัญญาค้ำประกันตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน