แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลรวมกระทงลงโทษจำคุกจำเลย 15 ปีตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 และ 230 มิใช่ลงโทษตามบทที่หนัก โทษที่กำหนดตามคำพิพากษาในกรณีนี้จึงไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 162 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา3(1) ไม่เป็นกรณีที่ศาลจะต้องกำหนดโทษเสียใหม่
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์และศาลอาญาที่พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานยักยอกตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 ซึ่งแก้ไขโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3 กระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานเจ้าพนักงานจดบัญชีเท็จตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 230 อีกกระทงหนึ่ง จึงให้รวมกระทงลงโทษจำคุก 15 ปี จำเลยรับลดกึ่งตาม มาตรา 59 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 186,527 บาทให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยกับให้ริบบัญชีที่จำเลยจดเท็จนั้นด้วย
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 19 เม.ย. 2500 ขอให้ศาลอาญากำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1)โดยอ้างว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษานั้นหนักกว่าโทษที่กำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา
ศาลอาญาเห็นว่า กรณีไม่เข้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1)ที่ศาลจะต้องกำหนดโทษเสียใหม่ จึงให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นและกำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 3(1) มีกำหนดโทษจำคุก 8 ปี จำเลยรับลดกึ่งเหลือ 4 ปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลลงโทษจำเลยตาม กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 131, 230 รวมกำหนดโทษตามคำพิพากษา 15 ปีนั้น เป็นการรวมกระทงลงโทษ มิใช่เป็นการลงโทษในบทที่หนัก ฉะนั้นโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาในกรณีนี้ จึงไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ฯลฯ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1)
พิพากษากลับศาลอุทธรณ์ โดยยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น