คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7053/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้บริโภคได้ตกลงจะซื้อที่ดินตามฟ้องโดยมีการวางเงินมัดจำ ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง จึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้มีพยานเอกสารมาแสดง ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมข้อความในเอกสารได้ หรือศาลมีอำนาจรับฟังพยานบุคคลของโจทก์ได้
จำเลยได้ตกลงจะสร้างเขื่อนกั้นดินริมคลองให้แก่ผู้บริโภคแต่แล้วก็ไม่สร้างให้โดยคิดค่าสร้างเขื่อนตารางวาละ 1,500 บาท รวมเป็นเงิน 150,000 บาท ดังนี้ จำเลยจึงต้องคืนเงิน 150,000 บาท ให้แก่ผู้บริโภค
ผู้แทนของจำเลยได้ทำบันทึกต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคือโจทก์ว่า จำเลยยอมรับจะซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องให้แก่ผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ร้องเรียน ถ้าผู้บริโภคไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลยนั้น เป็นเพียงหนังสือบันทึกถ้อยคำหรือคำให้การของจำเลยในฐานะผู้ถูกร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรปกครองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นกรณีที่จำเลยให้ถ้อยคำไปตามหน้าที่ที่ถูกร้องเรียน และมิใช่กระทำต่อเจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ทั้งยังเป็นการยอมรับจะชำระหนี้คือซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องโดยมีเงื่อนไขว่าผู้บริโภคต้องไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลย ดังนี้กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อีกด้วย จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ซึ่งใช้บังคับขณะยอมรับจะชำระหนี้(มาตรา 193/14(1) ที่แก้ไขใหม่)
ฟ้องโจทก์ในส่วนที่ให้จำเลยชำระหนี้ เป็นการฟ้องร้องที่โจทก์อ้างอิงสิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคตรวจพบความชำรุดบกพร่องของบ้านที่จำเลยก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งเป็นวันเริ่มนับสิทธิเรียกร้อง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกิน 1 ปีคดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับการร้องเรียนจากนางตารเกศ ศิริบูรพา ผู้บริโภคว่าผู้บริโภคกับจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเนื้อที่ 100 ตารางวา ราคาตารางวาละ18,500 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รวมค่าสร้างเขื่อนกั้นดินริมคลองในราคาตารางวาละ 1,500บาทด้วย และได้ทำสัญญาจ้างจำเลยก่อสร้างบ้านบนที่ดินแปลงดังกล่าว ต่อมาจำเลยไม่สร้างเขื่อนกั้นดินริมคลองให้ผู้บริโภค คิดคำนวณเป็นเงิน 150,000 บาท แต่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรวมทั้งส่งมอบบ้านให้แก่ผู้บริโภคล่าช้าจากกำหนดวันแล้วเสร็จ และยังให้ผู้บริโภคชำระดอกเบี้ยของเงินค่าที่ดินและค่าก่อสร้างบ้านที่ค้างชำระ119,490 บาท อ้างว่าชำระเงินล่าช้า ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินได้ บ้านที่จำเลยก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่องไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายคือค่าซ่อมแซมความชำรุดบกพร่อง 1,315,254 บาท ค่าเช่าห้องชุดอยู่อาศัยซึ่งเสียค่าเช่าไปแล้ว 84,000 บาท และนับแต่เดือนกรกฎาคม 2534 ต้องเสียค่าเช่าเดือนละ6,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินและชำระค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 1,668,744 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้บริโภค และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 6,000 บาท นับแต่เดือนกรกฎาคม2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องแล้วเสร็จ

จำเลยให้การว่า ราคาในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นราคาที่ไม่รวมค่าก่อสร้างเขื่อนกั้นดินริมคลองด้วย สัญญาจ้างจำเลยก่อสร้างบ้านมิได้กำหนดวันแล้วเสร็จไว้ผู้บริโภคยอมให้จำเลยเรียกเก็บดอกเบี้ยเอง ค่าซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องไม่เกิน20,000 บาท จำเลยซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องและผู้บริโภครับมอบบ้านไว้แล้วโดยมิได้อิดเอื้อน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในค่าซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องอีก ฟ้องโจทก์ที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายในค่าซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องขาดอายุความแล้ว เพราะฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลา 1 ปี นับแต่เวลาที่ผู้บริโภคได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 119,450 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้บริโภค

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า ผู้บริโภคทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลย ตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 55010 เป็นที่ดินแปลงติดริมคลอง เนื้อที่ 100 ตารางวา ราคาตารางวาละ 18,500บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่ดินแปลงอื่น ตารางวาละ 1,500 บาท และผู้บริโภคทำสัญญาจ้างจำเลยก่อสร้างบ้านบนที่ดินดังกล่าว แล้วบ้านที่จำเลยก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่อง และข้อเท็จจริงยังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยต้องคืนเงิน119,450 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้บริโภค

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์จะสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมข้อความในเอกสารคือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คดีนี้เป็นการทำสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ โดยมีการวางมัดจำ10,000 บาท ในวันจอง แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ จึงไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารหรือหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง แม้ต่อมาได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.1 ก็ตาม โจทก์ก็นำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเอกสารได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2535 ระหว่าง นายเข้มมฤคพิทักษ์ โจทก์ นายปรีชา สกุลมุทิตา กับพวกจำเลย เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า นางตารเกศ ศิริบูรพา ผู้บริโภคได้ตกลงจะซื้อที่ดินตามฟ้องโดยมีการวางมัดจำ1,000 บาท ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง จึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้มีพยานเอกสารมาแสดง ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมข้อความในเอกสารได้ หรือศาลมีอำนาจรับฟังพยานบุคคลของโจทก์ได้ และวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้ตกลงจะสร้างเขื่อนกั้นดินริมคลองให้แก่ผู้บริโภคหรือไม่ว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ตกลงจะสร้างเขื่อนกั้นดินริมคลองให้แก่ผู้บริโภคแล้วไม่สร้างให้ จำเลยจึงต้องคืนเงิน150,000 บาท ให้แก่ผู้บริโภค

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธิเรียกร้องเพื่อความชำรุดบกพร่องของบ้านที่จำเลยก่อสร้างขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การให้ถ้อยคำของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.18 และ จ.19 เป็นการยอมรับจะซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องอันเป็นการแสดงเจตนาจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คือโจทก์แล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ คดีจึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า การที่นายวิชัย รังนกใต้ผู้แทนของจำเลยได้ทำบันทึกต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคือโจทก์ว่า จำเลยยอมรับจะซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องให้แก่ผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ร้องเรียน ถ้าผู้บริโภคไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลย เป็นเพียงหนังสือบันทึกถ้อยคำหรือคำให้การของจำเลยในฐานะผู้ถูกร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นองค์กรปกครองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นกรณีที่จำเลยให้ถ้อยคำไปตามหน้าที่ที่ถูกร้องเรียนและมิใช่กระทำต่อเจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ ทั้งยังเป็นการยอมรับจะชำระหนี้ คือ ซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องโดยมีเงื่อนไขว่าผู้บริโภคต้องไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลย ซึ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อีกด้วย กรณีจึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ซึ่งใช้บังคับขณะยอมรับจะชำระหนี้ (มาตรา 193/14(1)ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งการนำกฎหมายเอกชนมาปรับใช้กับกรณีนี้เพราะฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ที่ให้จำเลยชำระหนี้นั้นเป็นการฟ้องร้องที่โจทก์อ้างอิงสิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้บริโภคตรวจพบความชำรุดบกพร่องของบ้านที่จำเลยก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งเป็นวันเริ่มนับสิทธิเรียกร้อง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2534 จึงเกิน 1 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 150,000 บาท แก่ผู้บริโภคอีกด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share