คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7047/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศข้อ7ก.ข้อ8และข้อ9ความว่าในกรณีที่จำเลยที่1ผิดสัญญาไม่กลับเข้าปฏิบัติราชการหลังจากการศึกษาของจำเลยที่1ยุติลงและเป็นเหตุให้จำเลยที่1ถูกลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการจำเลยที่1จะต้องชดใช้เงินทุกเงินเดือนและเงินอื่นใดที่จำเลยที่1ได้รับไปในระหว่างศึกษาต่อคืนแก่โจทก์ทั้งหมดพร้อมทั้งเบี้ยปรับเป็นเงินอีกหนึ่งเท่าของเงินที่จำเลยที่1ต้องชดใช้คืนแก่โจทก์นอกจากนี้จำเลยที่1ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเงินที่ยังมิได้ชำระคืนในอัตราร้อยละ12ต่อปีอีกด้วยข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกำหนดเบี้ยปรับเมื่อจำเลยที่1ไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา380อีกส่วนหนึ่งด้วยเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค3พิพากษาให้จำเลยที่1ชำระเบี้ยปรับเป็นจำนวนเงินหนึ่งเท่าของเงินที่จำเลยที่1ต้องชดใช้คืนให้แก่โจทก์ครบจำนวนแล้วหากนำเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเบี้ยปรับอัตราร้อยละ12ต่อปีรวมเข้าเป็นเบี้ยปรับอีกจำนวนหนึ่งย่อมทำให้เบี้ยปรับที่โจทก์ได้รับมีจำนวนสูงเกินไปศาลชอบที่จะลดเบี้ยปรับให้เหลือเพียงจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา383วรรคหนึ่งดังนั้นโจทก์ย่อมไม่สมควรได้รับดอกเบี้ยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศ โดยมีจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2526 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ 1 มิได้รายงานตัวภายในกำหนด จนกระทั่งโจทก์มีคำสั่งไล่จำเลยที่ 1 ออกจากราชการ การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นการผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน293,697.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน220,825.34 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่ออีกโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ ความผูกพันระหว่างจำเลยที่ 2กับโจทก์จึงหมดสิ้น นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 กลับมารายงานตัวฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์มีสิทธิเรียกเงินต้นคืนเท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน214,195.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน181,045.34 บาท และพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 33,150 บาท นับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2530(วันที่โจทก์ขอมา) เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระให้แก่โจทก์แล้วเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนเป็นเงินไม่เกิน 143,033.34 บาท และให้จำเลยที่ 3 ใช้แทนเป็นเงินไม่เกิน38,012 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวตามลำดับ นับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะชำระให้แก่โจทก์แล้วเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 220,825.34 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 3 ใช้แทนเป็นเงินไม่เกิน 77,792 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน220,825.34 บาท นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดคือวันที่ 11 สิงหาคม 2525 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องและจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนแก่โจทก์เสร็จสิ้นนั้นได้ความจากสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศเอกสารหมาย ป.จ.3 ของศาลแพ่งข้อ 7 ก. ข้อ 8 และข้อ 9 ว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาในขณะได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่อแล้วไม่กลับเข้าปฏิบัติราชการหลังจากการศึกษาของจำเลยที่ 1 ต้องยุติลง และเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถูกลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการ จำเลยที่ 1จะต้องชดใช้เงินทุน เงินเดือน และเงินอื่นใดที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ศึกษาต่อคืนแก่โจทก์ทั้งหมด และจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เบี้ยปรับเป็นเงินอีกหนึ่งเท่ากับของเงินที่ต้องชดใช้คืนแก่โจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเงินที่ยังมิได้ชำระคืนในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีอีกด้วย ข้อตกลงในเรื่องที่จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเอาจากเงินที่ยังมิได้ชำระคืนแก่โจทก์ตามสัญญาข้อ 8 ที่ว่านี้ถือได้ว่า เป็นการกำหนดเบี้ยปรับ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 อีกส่วนหนึ่งด้วยเมื่อสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศ ข้อ 7 ก. กำหนดเบี้ยปรับเอาแก่จำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงินหนึ่งเท่าของเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืนให้แก่โจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาให้ครบจำนวนแล้ว หากนำเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ12 ต่อปี รวมเข้าเป็นเบี้ยปรับอีกจำนวนหนึ่ง ย่อมทำให้เบี้ยปรับที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยที่ 1 มีจำนวนสูงเกินไปชอบที่ศาลจะลดเบี้ยปรับที่มีจำนวนสูงเกินไปให้เหลือเพียงจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์กำหนดเบี้ยปรับไว้เป็นจำนวนสูงอยู่แล้ว โจทก์ย่อมไม่สมควรได้รับดอกเบี้ยในจำนวนเงิน220,825.34 บาท อีกนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share