คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7046/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งแปดฟ้องเรียกที่ดินสองแปลงจากจำเลยทั้งหก ขอให้แบ่งเป็น 4 ส่วน โจทก์ทั้งแปดขอแบ่ง 3 ส่วน ราคา 80,000 บาท โดยโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เรียกคนละ 1 ส่วน โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 เรียกรวมกัน 1 ส่วน แต่จำเลยทั้งหกให้การต่อสู้ว่า ที่ดินสองแปลงไม่ใช่มรดก แต่เป็นทรัพย์ของ ป.ซึ่งจำเลยทั้งหกได้ร่วมกับ ป.ครอบครอง จนกระทั่ง ป.ถึงแก่ความตายจำเลยทั้งหกจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลง ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันไปจดทะเบียนโอนแบ่งแยกที่ดิน ทั้งสองแปลงให้โจทก์ทั้งแปดโดยแบ่งที่ดินทั้งสองแปลงออกเป็น 4 ส่วน เท่า ๆ กัน และให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้คนละ 1 ส่วน โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 ได้รวมกัน 1 ส่วน จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ ว่าที่ดินทั้งสองแปลงไม่ใช่มรดก แต่เป็นทรัพย์ของ ป.เมื่อ ป.ถึงแก่ความตาย จึงตกเป็นของจำเลยทั้งหกทั้งสองแปลง เท่ากับโต้เถียงว่า ที่ดินทั้ง 3 ส่วนของทั้งสองแปลง ราคา 80,000 บาท เป็นของจำเลยทั้งหกทั้งหมด ประกอบกับการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นระหว่าง จำเลยทั้งหกก็ไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงต้องคิดทุนทรัพย์ที่ พิพาทรวมกัน ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ จึงมีราคาเกินกว่า 50,000 บาท ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 เป็นบุตรของนายรัตน์วริวงษ์ จำเลยทั้งหกเป็นบุตรของนางแห้ง ไชโยรักษ์ โจทก์ ที่ 1 ที่ 2 นายรัตน์และนางแป้ง เป็นบุตรของนายเขียว วริวงศ์ที่ดิน 2 แปลง เป็นของนางเขียว เมื่อนายเขียวถึงแก่ความตายที่ดินทั้งสองแปลงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 นายรัตน์และนางแป้ง ต่อมานางแป้งเป็นผู้ขอออก น.ส.3 ไว้แทนทายาททุกคนคือที่ดินตาม น.ส.3 เล่ม 9 หน้า 161 สารบบเล่ม 8 หน้า 353และ 352 เนื้อที่ประมาณ 67 ไร่ 2 งาน และ 8 ไร่ 75 ตารางวาตามลำดับ ทายาททุกคนได้ร่วมกันทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเมื่อนายรัตน์ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 ได้ร่วมกันครอบครองสืบต่อมา และเมื่อนางแป้งถึงแก่ความตาย ฝ่ายโจทก์ขอให้จำเลยทั้งหกโอนแบ่งแยกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์แต่ละคนตามส่วน แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ขอบังคับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนโอนแบ่งแยกที่ดินทั้งสองแปลงแก่ฝ่ายโจทก์โดยแบ่งที่ดินออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน แล้วจดทะเบียนโอนแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 คนละส่วน ให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 รวมกัน 1 ส่วน หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่อาจแบ่งแยกได้ ให้เอาขายทอดตลาด ได้เงินเท่าใดให้แบ่งออกเป็น4 ส่วนเท่า ๆ กันแล้วแบ่งโจทก์ที่ 1 ที่ 2 คนละส่วนให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 ได้ 1 ส่วน
จำเลยทั้งหกให้การว่า ที่ดินสองแปลงตามฟ้องไม่ใช่มรดกแต่เป็นทรัพย์ของนางแป้ง ซึ่งจำเลยทั้งหกได้ร่วมกับนางแป้งครอบครองจนกระทั่งนางแป้งถึงแก่ความตาย และจำเลยทั้งหกได้ครอบครองต่อมาด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 1 ปีโดยโจทก์ทั้งแปดไม่เกี่ยวข้อง จำเลยทั้งหกจึงได้สิทธิครอบครอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันไปจดทะเบียนโอนแบ่งแยกที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องให้โจทก์ทั้งแปดโดยแบ่งที่ดินทั้งสองออกเป็นสี่ส่วนเท่า ๆ กัน และให้โจทก์ที่ 1ที่ 2 ได้คนละ 1 ส่วน โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 ได้ร่วมกัน 1 ส่วนหากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หรือหากไม่อาจแบ่งแยกกันได้ให้นำที่ดินทั้งสองแปลงข้างต้นออกขายทอดตลาดได้เงินเท่าใดให้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน แล้วแบ่งให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 คนละ 1 ส่วน โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 ได้ 1 ส่วน
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งแปดฟ้องเรียกทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินจากจำเลยทั้งหกให้แบ่งเป็น 4 ส่วน โจทก์ทั้งแปดได้ 3 ส่วน ราคา 80,000 บาท โดยโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เรียกคนละหนึ่งส่วน โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 รวมกันหนึ่งส่วน จำเลยทั้งหกได้ 1 ส่วน ทรัพย์สินแต่ละส่วนจึงมีราคาส่วนละ 26,666.66 บาทซึ่งไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ปรากฏว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนอุทธรณ์ที่ว่า โจทก์ทั้งแปดมิได้ใช้สิทธิฟ้องร้องใน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครองจึงขาดสิทธิฟ้องเรียกคืนเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยทั้งหกชอบที่จะยกปัญหานี้อุทธรณ์ได้ แต่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งหกครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องไว้แทนโจทก์ทั้งแปด เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งหกมิได้แย่งการครอบครองที่ดินสองแปลงตามฟ้องจากโจทก์ทั้งแปด จำเลยทั้งหกจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375ขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ อุทธรณ์จำเลยทั้งหกข้อนี้ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
จำเลยทั้งหกฎีกาว่า จำเลยทั้งหกให้การต่อสู้ว่าที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องเป็นของนางแป้ง เมื่อนางแป้งตายจึงตกเป็นของจำเลยทั้งหกเมื่อทุนทรัพย์เกินกว่า 50,000 บาท จำเลยทั้งหกจึงอุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้
ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาเพราะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลฎีกาสั่งว่า การคำนวณทุนทรัพย์จะคำนวณโดยเฉลี่ยตามคำฟ้องของโจทก์ หรือตามคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกซึ่งคำนวณรวมกันมาเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ให้รับฎีกาจำเลยทั้งหกไว้พิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกมีทุนทรัพย์เกินกว่า 50,000 บาท จึงไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์ทั้งแปดฟ้องเรียกที่ดินสองแปลงตามฟ้องจากจำเลยทั้งหกขอให้แบ่งเป็น 4 ส่วน โจทก์ทั้งแปดขอแบ่ง 3 ส่วนราคา 80,000 บาท โดยโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เรียกคนละ 1 ส่วน โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 เรียกรวมกัน 1 ส่วนก็ตาม แต่จำเลยทั้งหกให้การต่อสู้ว่า ที่ดินสองแปลงตามฟ้องไม่ใช่มรดก แต่เป็นทรัพย์ของนางแป้งซึ่งจำเลยทั้งหกได้ร่วมกับนางแป้งครอบครองจนกระทั่งนางแป้งถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งหกจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันไปจดทะเบียนโอนแบ่งแยกที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องให้โจทก์ทั้งแปดโดยแบ่งที่ดินทั้งสองแปลงออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน และให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้คนละ 1 ส่วน โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 ได้รวมกัน1 ส่วน จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ว่าที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องไม่ใช่มรดกแต่เป็นทรัพย์ของนางแป้ง เมื่อนางแป้งถึงแก่ความตายจึงตกเป็นของจำเลยทั้งหกทั้งสองแปลง เท่ากับโต้เถียงว่า ที่ดินทั้ง 3 ส่วนของทั้งสองแปลงตามฟ้องและตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ราคา80,000 บาท เป็นของจำเลยทั้งหกทั้งหมดประกอบกับการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นระหว่างจำเลยทั้งหกก็ไม่อาจแบ่งแยกได้จึงต้องคิดทุนทรัพย์ที่พิพาทรวมกัน ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์คดีนี้จึงมีราคาเกินกว่า 50,000 บาท ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกในข้อเท็จจริงที่ว่า ลายพิมพ์นิ้วมือและลายมือผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ที่ 2 และไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8ก็ดี โจทก์ที่ 3 ไม่ได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีนี้ก็ดีที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องไม่ใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก แต่เป็นของนางแป้งมารดา จำเลยทั้งหกก็ดีโจทก์ทั้งแปดยื่นฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายจึงขาดอายุความมรดกก็ดีจึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 247 ฎีกาของจำเลยทั้งหกฟังขึ้น แต่ปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยนั้นจำเลยทั้งหกมิได้กล่าวมาในคำฟ้องฎีกาด้วย จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นผู้วินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share