แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่งคนใดนั้น เป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เป็นการแทรกแซงมติประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถคัดสรรบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายแก่ชุมชนของจำเลย แต่ยังเป็นการทำลายรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 4, 57, 118 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบธนบัตรของกลาง และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1) วรรคหนึ่ง, 118 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่ผู้สมัครคนหนึ่งคนใด จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 4 กระทง จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า สมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่งคนใดนั้นเป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นการแทรกแซงมติของประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถคัดสรรบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายแก่ชุมชนของจำเลย แต่ยังเป็นการทำลายรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ส่วนโทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดนั้น เป็นการลงโทษในอัตราขั้นต่ำสุด ศาลฎีกาไม่อาจลดโทษได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน