คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7044/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติปีประดิทิน พ.ศ. 2483 เปลี่ยนระยะเวลาสิบสองเดือนของปีประดิทินจากเดือนเมษายนถึงเดือนมีนาคมมาเป็นเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคมของแต่ละปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2484 และบัญญัติให้เดือนมกราคม กุมภาพันธ์และมีนาคมของปี 2483 เป็นเดือนมกราคมกุมภาพันธ์ และมีนาคม ของปี 2484 โดยบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับบุคคลที่เกิดก่อนวันที่ 1 มกราคม 2484 หากเกิดในเดือนมกราคมกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม อายุจริงของบุคคลนั้นจะน้อยกว่าอายุที่นับตามประดิทิน1ปีเพราะอายุที่นับตามประดิทินต้องนับอายุของปี 2483ที่ตัดออกไปเข้าไปด้วยทั้งปี โจทก์เกิดวันที่ 9 มีนาคม 2480ในวันที่ 9 มีนาคม 2484 ถ้านับตามประดิทินโจทก์มีอายุ 4 ปีบริบูรณ์ทั้ง ๆ ที่ตามความเป็นจริงในวันดังกล่าวโจทก์มีอายุเพียง3 ปีบริบูรณ์เท่านั้น เพราะวันที่ 9 มีนาคม 2484 นั้น ถ้าไม่มีพระราชบัญญัติปีประดิทิน พ.ศ. 2483 ออกใช้บังคับ ก็เป็นวันที่9 มีนาคม 2583 นั่นเอง ดังนั้นการนับอายุจริงสำหรับบุคคลที่เกิดก่อนวันที่ 1 มกราคม 2484 และเกิดในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์หรือมีนาคม จึงต้องนำอายุความตามประดิทินมาบวกอีก 1 ปี โจทก์ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2480 มีอายุครบ 55 ปี ตามประดิทินในปี 2535 เมื่อบวกอีก 1 ปี โจทก์จึงมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 9 มีนาคม 2536

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2506 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย วันที่ 31 ธันวาคม 2535 จำเลยให้โจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานเพราะเกษียณอายุ แต่โจทก์จะครบ 55 ปีบริบูรณ์วันที่9 มีนาคม 2536 ตามพระราชบัญญัติประดิทิน พ.ศ. 2483 ซึ่งเปลี่ยนเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม 2483 เป็นเดือนมกราคม กุมภาพันธ์และมีนาคม 2484 โจทก์จึงมีอายุการทำงานเพียง 29 ปี 7 เดือนและได้รับเงินทั้งหมดหลังจากหักภาษีแล้วเป็นจำนวน 903,074.37 บาทการเลิกจ้างโจทก์นั้นไม่เป็นธรรม โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายคือเงินเดือนในปี 2536 เดือนละ 28,780 บาท เป็นจำนวน 345,360 บาทค่าครองชีพเดือนละ 350 บาท เป็นเงิน 4,200 บาท เงินโบนัสจำนวน4 เท่าของเงินเดือนเป็นเงิน 115,120 บาท ค่าพาหนะเดือนละ 1 วันเป็นเงิน 9,600 บาท ค่ารักษาพยาบาล 12,000 บาท รวมทั้งบำเหน็จค่าชดเชยคำนวณจากระยะเวลาทำงาน 30 ปี 8 เดือน ค่าเสียหายทางจิตใจและร่างกายเป็นเงิน 100,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน751,305.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากวันที่1 มกราคม 2536 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 27,788 บาท ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม โดยนับอายุงานและให้เงินเดือนกับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ต่อเนื่องเสมือนไม่มีการเลิกจ้างในอัตราเงินเดือนใหม่ 28,780 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 350 บาท นับจากวันที่ 1 มกราคม 2536 เป็นต้นไปและให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ ในฐานะพนักงานคืนบริบูรณ์ รวมทั้งบำเหน็จและค่าชดเชยที่จะได้รับเมื่อโจทก์เกษียณอายุในภายหน้า โดยจำเลยไม่กลั่นแกล้งโจทก์ตลอดเวลาทำงานจนกระทั่งโจทก์ออกจากงาน รวมทั้งโจทก์ได้สิทธิพิจารณาต่อเกษียณอายุตามหลักเกณฑ์ของจำเลยด้วย หากการรับโจทก์กลับเข้าทำงานไม่อาจทำได้โดยเหตุใด ๆ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 1,654,380 บาท โดยส่งเงินที่โจทก์เก็บไว้จากจำเลยจำนวน903,074.37 บาท เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย และให้จำเลยชำระส่วนที่ขาดกับดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์อีกเป็นเงินจำนวน779,093.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 751,305.63 บาทในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะให้เงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2506 จำเลยมิได้เลือกปฎิบัติต่อโจทก์ การพ้นจากตำแหน่งพนักงานของโจทก์เป็นไปตามคำสั่งที่ 321/2520 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2520เป็นนิติกรรม ซึ่งอยู่ใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/1 ดังนั้น จำเลยจึงไม่จำเป็นต้องถือตามหลักทั่วไปของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 และพระราชบัญญัติปีประดิทิน พ.ศ. 2483 นอกจากนี้คำว่า “ปีทำงาน” หมายถึงระยะเวลาทำงานหรือการมีสภาพเป็นพนักงานโดยให้นับ 12 เดือน เป็น 1 ปีเศษของปีให้นับเป็นเดือน เศษของเดือนให้ปัดทิ้งและจำเลยได้ขยายระยะเวลาเกษียณอายุให้ครบในวันที่ 31 ธันวาคมของปีนั้น ๆทำให้โจทก์ได้รับการคำนวณบำเหน็จจากเงินเดือนสุดท้ายที่ได้รับในเดือนธันวาคม 2535 โจทก์ได้รับเงิน 903,074.37 บาท จากจำเลยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2536 โดยไม่โต้แย้ง การฟ้องคดีนี้ถือว่าใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แม้โจทก์จะสามารถทำงานในปี 2536 ได้แต่ก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้เงินเดือน เดือนละ 27,760 บาท ส่วนค่าโบนัสค่าพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งเงินบำเหน็จ และค่าชดเชยในปี 2526ที่โจทก์อ้างนั้นจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ข้อบังคับและระเบียบแบบแผนในแต่ละปี ไม่อาจจะคำนวณล่วงหน้าได้ จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโจทก์เกิดวันที่ 9 มีนาคม 2480 จำเลยให้โจทก์เกษียณอายุเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2535 โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จคำสั่งที่ 56/2535 และคำสั่งที่ 321/2520 ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 แล้ววินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติปีประดิทินพ.ศ. 2483 กำหนดปีประดิทินใหม่ให้มีระยะเวลาสิบสองเดือนเริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคม ตามหลักสากลซึ่งเดิมประเทศไทยนับวันที่ 1 เมษายนเป็นวันเริ่มต้นของปีและได้บัญญัติมาตรา 5 ขึ้นรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นว่า การกำหนดปีประดิทินตามความในมาตรา 4 ไม่กระทบกระเทือนถึงอายุบุคคลหรือถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือต้องคำนวณตามกฎหมายหรือนิติกรรมซึ่งได้ประกาศใช้หรือได้กระทำขึ้นก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้และมีมาตรา 4 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 กล่าวถึงการคำนวณอายุการทำงานเพิ่มอีก 1 ปี จะต้องนับตั้งแต่วันที่เข้ารับราชการจนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับเงินเดือน โจทก์จะถือปฎิบัติดังเช่นราชการไม่ได้โจทก์ทำงานกับเอกชนโดยเริ่มงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2506 หลังจากวันที่พระราชบัญญัติปีประดิทิน พ.ศ. 2483 ใช้บังคับและความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไม่ให้กระทบกระเทือนถึงอายุบุคคลและมีคำสั่งที่ 56/2535 เรื่องระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จ และคำสั่งที่ 321/2520 เรื่องประมวลระเบียบปฎิบัติงานธนาคารเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ของจำเลยกำหนดว่าหญิงมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะสิ้นสภาพการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุ โจทก์มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 9 มีนาคม 2535แต่จำเลยให้โจทก์พ้นสภาพเมื่อครบปีทำงานคือวันที่ 31 ธันวาคม 2535ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วย เกษียณอายุถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์เกิดวันที่ 9 มีนาคม 2480 จึงมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 9 มีนาคม 2536 และตามระเบียบของจำเลย โจทก์จะต้องเกษียณอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2536 การเลิกจ้างเป็นการผิดระเบียบและไม่เป็นธรรมนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติปีประดิทิน พ.ศ. 2483 เปลี่ยนระยะเวลาสิบสองเดือนของปีประดิทินจากเดือนเมษายนถึงเดือนมีนาคม มาเป็นเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคมของแต่ละปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2484 และบัญญัติให้เดือนมกราคมกุมภาพันธ์ และมีนาคม ของปี 2483 เป็นเดือนมกราคม กุมภาพันธ์และมีนาคม ของปี 2484 โดยบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับบุคคลที่เกิดก่อนวันที่ 1 มกราคม 2484 หากเกิดในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์หรือมีนาคม อายุจริงของบุคคลนั้นจะน้อยกว่าอายุที่นับตามประดิทิน1 ปี เพราะอายุที่นับตามประดิทินต้องนับอายุของปี 2483 ที่ตัดออกไปด้วยทั้งปี ดังเช่นกรณีของโจทก์ซึ่งเกิดวันที่ 9 มีนาคม 2480ในวันที่ 9 มีนาคม 2484 ถ้านับตามประดิทินโจทก์มีอายุ 4 ปีบริบูรณ์ทั้ง ๆ ที่ตามความเป็นจริงในวันดังกล่าวโจทก์มีอายุเพียง3 ปีบริบูรณ์เท่านั้น เพราะวันที่ 9 มีนาคม 2484 นั้น ถ้าไม่มีพระราชบัญญัติปีประดิทิน พ.ศ. 2483 ออกใช้บังคับ ก็เป็นวันที่9 มีนาคม 2483 นั่นเอง ดังนั้นการนับอายุจริงสำหรับบุคคลที่เกิดก่อนวันที่ 1 มกราคม 2484 และเกิดในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์หรือมีนาคม จึงต้องนำอายุตามประดิทินมาบวกอีก 1 ปี โจทก์ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2480 มีอายุครบ 55 ปี ตามประดิทินในปี 2535เมื่อบวกอีก 1 ปี โจทก์จึงมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ในวันที่9 มีนาคม 2536 ซึ่งตามระเบียบของจำเลย โจทก์จะต้องเกษียณอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2536 การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างก่อนเกษียณอายุและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 9 มีนาคม 2535และเกษียณอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2535 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับ จำเลยตามคำขอท้ายฟ้องนั้นศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องนี้ จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้ เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางและให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วพิพากษาไปตามรูปคดี

Share