คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7042/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ห้ามพนักงานขับรถของจำเลยนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว มิใช่เป็นเพียงมาตรการประหยัดค่าใช้จ่ายของจำเลยเท่านั้น แต่ยังเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่รถยนต์อันเป็นทรัพย์สินของจำเลยไว้ล่วงหน้าอีกด้วย การที่โจทก์นำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวเป็นระยะเวลานานถึง 6 วัน โดยมิได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบ ทั้ง ๆ ที่โจทก์คาดหมายได้ว่าหากโจทก์ขออนุญาตนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ธุระส่วนตัวในกรณีนี้จำเลยก็จะไม่อนุญาต การกระทำของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการจงใจอย่างแจ้งชัดที่จะฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหรือแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นบุคคลที่ไม่ใส่ใจต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยแม้สาเหตุที่โจทก์นำรถยนต์ของจำเลยไปใช้จะสืบเนื่องมาจากมารดาของโจทก์ป่วยหนักและถึงแก่กรรมก็ตาม ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์ นอกจากนี้โจทก์ทราบว่า มารดาของโจทก์ป่วยหนักและโจทก์ต้องการไปเยี่ยมมารดามาก่อนอยู่แล้ว โจทก์ย่อมมีระยะเวลาเตรียมตัวจัดหาพาหนะในการเดินทางได้ล่วงหน้า มิใช่เหตุจำเป็นกะทันหัน หรือเหตุสุดวิสัยที่โจทก์จะต้องนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้โดยพลการ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 119(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งพนักงานขับรถได้รับค่าจ้างวันละ 219 บาท เข้าทำงานเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2538 ต่อมาวันที่ 9ธันวาคม 2542 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย กรณีโจทก์นำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ในกิจธุระส่วนตัว การกระทำของโจทก์มิใช่กรณีร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 9,855 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง และค่าชดเชยจำนวน 39,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์จงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่พนักงานขับรถ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นรายวันวันละ 219 บาท โจทก์มีหน้าที่ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภฉ 1393 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งของนายมัตซูซากิ ผู้บริหารอาวุโสของจำเลย โจทก์เคยขออนุญาตนายมัตซูซากิ นำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ธุระส่วนตัวแต่ไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2542 โจทก์ได้รับแจ้งว่ามารดาของโจทก์ป่วยหนักกำลังจะเสียชีวิต โจทก์จึงขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเยี่ยมมารดาของโจทก์ที่จังหวัดชัยภูมิโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยวันที่ 4 ธันวาคม 2542 มารดาของโจทก์ถึงแก่กรรม และวันที่ 7 ธันวาคม 2542 โจทก์นำรถยนต์ส่งคืนจำเลย ณ ที่พักของนายมัตซูซากิ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ห้ามพนักงานขับรถนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ในธุระส่วนตัวหรือนำกลับไปจอดที่บ้าน แต่ระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการลดค่าใช้จ่ายของจำเลยเท่านั้น จึงมิใช่เป็นกรณีร้ายแรง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 39,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่เห็นว่าระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ห้ามพนักงานขับรถของจำเลยนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวนั้น มิใช่เป็นเพียงมาตรการประหยัดค่าใช้จ่ายของจำเลยเท่านั้น แต่ยังเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่รถยนต์อันเป็นทรัพย์สินของจำเลยไว้ล่วงหน้าอีกด้วย เนื่องจากการที่พนักงานขับรถนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้โดยพลการนั้น นอกจากรถยนต์ของจำเลยจะเสียหายจากการเสื่อมสภาพ โดยไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์แก่กิจการของจำเลยแล้ว ยังเสี่ยงต่อความเสียหายที่ร้ายแรงจากอุบัติเหตุหรือความเสียหายประการอื่น ๆ อีกด้วยการที่โจทก์นำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวเป็นระยะเวลานานถึง 6 วัน โดยมิได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ก่อนที่จะเกิดเหตุคดีนี้โจทก์เคยขออนุญาตนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ธุระส่วนตัวแต่ไม่ได้รับอนุญาตมาแล้ว โจทก์ย่อมต้องคาดหมายได้ว่าหากโจทก์ขออนุญาตนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ธุระส่วนตัวในกรณีนี้จำเลยก็จะไม่อนุญาตอีกเช่นเดียวกันการกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการจงใจอย่างแจ้งชัดที่จะฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง หรือแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นบุคคลที่ไม่ใส่ใจต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าสาเหตุที่โจทก์นำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ดังกล่าวนั้นจะสืบเนื่องมาจากมารดาของโจทก์ป่วยหนักและถึงแก่กรรมก็ตาม สาเหตุดังกล่าวก็เป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์ นอกจากนี้ก็ปรากฏตามบันทึกคำให้การของโจทก์ ซึ่งโจทก์และจำเลยได้แถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์ได้ขอลาหยุดพักผ่อนประจำปีระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2542 เพื่อไปเยี่ยมมารดาที่ป่วยหนัก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบว่ามารดาของโจทก์ป่วยหนักและโจทก์ต้องการไปเยี่ยมมารดามาก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2542 อยู่แล้ว โจทก์ย่อมมีระยะเวลาเตรียมตัวจัดหาพาหนะในการเดินทางได้ล่วงหน้า มิใช่เหตุจำเป็นกะทันหันหรือเหตุสุดวิสัยอย่างใดที่จะต้องนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้โดยพลการเช่นนี้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยในกรณีร้ายแรงนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำขอโจทก์ที่ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share