คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7041/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์มีหน้าที่ดำเนินการให้มีการรับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 การที่โจทก์เพียงแต่อุทธรณ์ขึ้นไปเฉยๆ โดยมิได้ร้องขอให้มีการรับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ทั้งๆ ที่มีเวลาที่จะดำเนินการถึงแม้โจทก์จะอ้างว่าเหตุที่ไม่ดำเนินการเพราะโจทก์เข้าใจว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของโจทก์เอง การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ภาค 7 ต้องส่งสำนวนพร้อมอุทธรณ์ไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของโจทก์เสียใหม่เพื่อที่โจทก์จะได้ยื่นคำร้องขอให้รับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9053 เนื้อที่ 130 ไร่ 8 ตารางวา เมื่อปี 2538 จำเลยได้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินบางส่วนของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหาย หากโจทก์ให้ผู้อื่นเช่าที่ดินดังกล่าวจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 2,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 9053 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และห้ามเกี่ยวข้องอีก ให้จำเลยพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อประมาณ 80 ปี มาแล้ว ที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครองยังไม่มีเอกสารสิทธิทางทะเบียน ที่ดินเดิมเป็นของนายเจิ่น ไม่ทราบชื่อสกุล ได้ครอบครองด้วยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาหลายสิบปี ต่อมานายเจิ่นยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยมาประมาณ 30 ปี แล้วเนื่องจากสภาพบ้านเดิมของจำเลยถูกน้ำทะเลกัดเซาะ หลังจากจำเลยรับการยกให้จำเลยก็เข้าครอบครองที่ดินต่อมาตลอดด้วยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมากกว่าสิบปีโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ที่ดินพิพาทส่วนนี้จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้โจทก์ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกา 49,750 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายในฎีกาข้อ 2.1 โดยโจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบโดยโจทก์อ้างว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายมิใช่อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง อันจะเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามนั้น พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย แล้วโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยรู้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วจึงเป็นการได้มาโดยไม่สุจริต โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อมากว่าพยานหลักฐานของจำเลย คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ส่วนโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนกับได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้ เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์โดยพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้นจึงเป็นการชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาในประการต่อไปว่า หากแม้อุทธรณ์ของโจทก์จะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แต่ศาลชั้นต้นได้สั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นความผิดพลาดของศาลชั้นต้นที่มิได้ทำการตรวจสอบอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะส่งสำนวนคืนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของโจทก์เสียใหม่ว่า คดีของโจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เพื่อที่โจทก์จะได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ความบกพร่องในการสั่งอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นไม่ควรเป็นเหตุตัดสิทธิโจทก์ในการขอรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์มีหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมาย การที่โจทก์เพียงแต่อุทธรณ์ขึ้นไปเฉยๆ โดยมิได้ร้องขอให้มีการรับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงทั้งๆ ที่มีเวลาที่จะดำเนินการแต่โจกท์ก็หาดำเนินการไม่ ถึงแม้โจทก์จะอ้างว่าเหตุที่ไม่ดำเนินการเพราะโจทก์เข้าใจว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของโจทก์เอง จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นความบกพร่องของผู้อื่น จึงไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องส่งสำนวนพร้อมอุทธรณ์ไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของโจทก์เสียใหม่ ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share