คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7040/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อตกลงในการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่มีข้อความว่าให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงเมื่อใด เมื่อปรากฏว่าหลังจากครบกำหนดระยะเวลาตามหนังสือต่ออายุสัญญาดังกล่าว เจ้าหนี้และบริษัท พ. ยังคงมีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อบริษัท พ. นำเงินเข้าฝากในรูปตั๋วเงินและกู้เงินโดยผ่านบัญชีเงินฝากกระแสรายวันครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2531 หลังจากนั้นไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป คงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยทบต้นเท่านั้น และเจ้าหนี้คิดหักทอนบัญชีกับบริษัท พ. ในวันที่ 31 มกราคม 2533 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกัน แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2533 ซึ่งเป็นวันคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 และ 859 สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2538 เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 10 ปี หนี้ดังกล่าวไม่ขาดอายุความ
ลูกหนี้ที่ 4 ร่วมค้ำประกันหนี้ของบริษัท พ. เป็นเงิน 5,000,000 บาท แม้จะยอมตกลงค้ำประกันการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน จนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง แต่ก็หาใช่รับผิดชำระหนี้แทนบริษัท พ. โดยไม่จำกัดจำนวนไม่ คงรับผิดชำระหนี้เป็นเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น และการค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ยอดหนี้ของบริษัท พ. อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วยการนำเงินเข้าหรือถอนเงินออกจากบัญชี ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่มีการเบิกถอนเงินเต็มวงเงินค้ำประกันเป็นต้นไป แต่ถ้าบริษัท พ. นำเงินมาชำระหนี้หักทอนบัญชีจนเป็นหนี้ต่ำกว่าวงเงินค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่บริษัท พ. ได้ชำระแล้ว คงรับผิดเท่าวงเงินที่เหลือจนกว่าจะได้มีการเบิกถอนจนเต็มวงเงินค้ำประกันใหม่ ผู้ค้ำประกันจึงจะรับผิดเต็มตามวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนั้นอีก ฉะนั้น ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันใด จึงต้องพิจารณาในวันที่ บริษัท พ. เป็นหนี้เจ้าหนี้เต็มวงเงินครั้งสุดท้าย ตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เมื่อบริษัท พ. เป็นหนี้เจ้าหนี้เต็มวงเงินครั้งสุดท้ายคือวันที่ 30 ธันวาคม 2526 ลูกหนี้ที่ 4 จึงต้องชำระดอกเบี้ยทบต้นให้แก่เจ้าหนี้นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2526 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2533 อันเป็นวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง แต่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นจากลูกหนี้ที่ 4 เกินกว่า 5 ปี เพราะอายุความในการเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนด 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยค้างชำระเพียง 5 ปี นับแต่วันยื่นคำขอรับชำระหนี้ย้อนหลังไปเท่านั้น แต่จากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถึงวันยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยค้างชำระในส่วนนี้เพราะต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 100

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้จำเลยที่ ๔ ไว้เด็ดขาด เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๓๘ ต่อมาวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๘ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้โดยนายผสมศักดิ์ วิบูลยเสข หรือนายเสกสรร ชาญวิธะเสนา ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นค่าหนี้ตามคำพิพากษาและสัญญาค้ำประกันสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีรวม ๓ อันดับ เป็นเงิน๑๓๓,๒๙๕,๖๖๑.๕๕ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๔ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐๔ แล้วไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เฉพาะหนี้อันดับ ๑ เป็นเงิน ๑,๓๕๘,๘๕๓.๒๑ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๔ตามมาตรา ๑๓๐ (๘) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด ลูกหนี้ชั้นต้นซึ่งเป็นลูกหนี้ (จำเลย) ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.๘๘/๒๕๓๓ ของศาลชั้นต้นและจากกองทรัพย์สินของนายสมยศ วนาสวัสดิ์ และนายธนสิทธิ์ วนาสวัสดิ์ ลูกหนี้(จำเลย) ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.๑๓๕/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้น จากนายสมศักดิ์ วนาสวัสดิ์ ผู้ค้ำประกัน และจากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่๑๘๕๓๑ ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๖๓๐/๒๕๒๙ ของศาลชั้นต้นแล้วเพียงใดให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสียและเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้อันดับ ๒ และ ๓
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อันดับ๑ เป็นเงิน ๑,๓๕๙,๑๖๙.๐๔ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๔ โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด ลูกหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.๘๘/๒๕๓๓ ของศาลชั้นต้น จากกองทรัพย์สินของนายสมยศ วนาสวัสดิ์และนายธนสิทธิ์ วนาสวัสดิ์ ลูกหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ล.๑๓๕/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้น จากนายสมศักดิ์ผู้ค้ำประกันและจากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๘๕๓๑ ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอดุสิต(บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๖๓๐/๒๕๓๙ของศาลชั้นต้น แล้วเพียงใดให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในหนี้อันดับ ๑ ลดลงเพียงนั้น และอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในหนี้อันดับ ๒ เป็นเงิน ๑๐๙,๑๔๔,๓๑๑.๗๙ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๔ โดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด ลูกหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.๘๘/๒๕๓๓ของศาลชั้นต้น จากกองทรัพย์สินของนายสมยศ วนาสวัสดิ์ และนายธนสิทธิ์ วนาสวัสดิ์ลูกหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.๑๓๕/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้น จากนายสมศักดิ์ วนาสวัสดิ์ ผู้ค้ำประกัน หรือจากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่๒๙๑๘๙, ๕๗๒๐๐, ๖๑๗๖๔ และ ๖๑๗๒๕ ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๖๖๘ ถึง ๓๕๖๗๑ ตำบลดอกไม้ (บางแก้ว) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๙๑, ๒๓๙๒, ๑๐๕๘๖ และ ๑๐๖๒๗ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โฉนดที่ดินเลขที่ ๗๑๑๘ และ ๔๖๕๖ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๑๐๕ และ๒๔๗๑๔ ตำบลบางจากอำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองเป็นประกันหนี้ไว้เพียงใด ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในหนี้อันดับ ๒ ลดลงเพียงนั้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้ฎีกาว่า หนี้อันดับ ๓ไม่ขาดอายุความเพราะหลังจากครบกำหนดใช้หนี้คืนทั้งหมดในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๓ตามหนังสือต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี (ครั้งที่ ๑) บริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัดยังคงเดินสะพัดทางบัญชีกับเจ้าหนี้เรื่อยมาโดยมีการเคลื่อนไหวทางบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ ถือว่าบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด ได้ต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปโดยไม่มีกำหนด และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๓ อันเป็นวันที่เจ้าหนี้คิดหักทอนบัญชีกับบริษัทพระนครก่อสร้างจำกัด หรือมิฉะนั้นก็สิ้นสุดลงในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ การที่เจ้าหนี้เคยยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม๒๕๓๓ และมายื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๔ ในฐานะผู้ค้ำประกันเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๘ เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด ๑๐ ปี หนี้ดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงเมื่อใดแม้เจ้าหนี้จะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ดังที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้ฎีกาแต่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ และศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัทพระนครก่อสร้างจำกัด ทำไว้แก่เจ้าหนี้ เป็นข้อตกลงของคู่สัญญาที่จะให้มีบัญชีเดินสะพัด คือการเบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด ในธนาคารเจ้าหนี้ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันแล้ว การชำระหนี้ย่อมจะต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัดคือให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่คงเหลือหนี้อันดับ ๓ ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เป็นหนี้ที่บริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับเจ้าหนี้ และได้ทำหนังสือต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี (ครั้งที่ ๑) โดยครบกำหนดใช้หนี้คืนทั้งหมดในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๓ ตามเอกสารหมาย จ.๑๔/๑ โดยลูกหนี้ที่ ๔ ยอมตกลงด้วยในการต่ออายุสัญญาดังกล่าว กำหนดเวลาใช้คืนเงินกู้ที่เบิกโดยบัญชีเดินสะพัด หาใช่อายุของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะสิ้นสุดลงโดยเป็นเงื่อนเวลาสิ้นสุดไม่ และตามข้อตกลงในการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่มีข้อความว่า ให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงเมื่อใดเมื่อปรากฏตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.๑๕ ณ วันที่ ๑๔ มีนาคม๒๕๒๓ อันเป็นวันก่อนหน้าวันครบกำหนดระยะเวลาตามหนังสือต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี (ครั้งที่ ๑) ๑ วัน บริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด เป็นหนี้เจ้าหนี้๕,๕๔๔,๖๐๒.๑๗ บาท และยังไม่ได้ชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้และหลังจากครบกำหนดระยะเวลาตามหนังสือต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว เจ้าหนี้และบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด ยังคงมีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาและตามสำเนาบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.๑๕ บริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด นำเงินเข้าฝากในรูปตั๋วเงินและกู้เงินโดยผ่านบัญชีเงินฝากกระแสรายวันครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ หลังจากนั้นไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป คงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยทบต้นเท่านั้นและเจ้าหนี้คิดหักทอนบัญชีกับบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด ในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๓ ปรากฏว่าบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด เป็นหนี้เจ้าหนี้ในวันดังกล่าวทั้งสิ้น ๑๒,๘๗๐,๒๕๔.๙๒ บาท ซึ่งถือได้ว่า เป็นการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันและก่อนหน้าบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์๒๕๓๓ พฤติการณ์ของเจ้าหนี้และบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายถือว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๓ซึ่งเป็นวันคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๖และ ๘๕๙ สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ซึ่งมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๘ เป็นการใช้สิทธิเรีกร้องภายในกำหนด ๑๐ ปี หนี้ดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความ
ส่วนปัญหาว่าลูกหนี้ที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดกับบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด เพียงใด เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.๑๓ และ จ.๑๓/๑ ลูกหนี้ที่ ๔ ร่วมค้ำประกันหนี้ของบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด เป็นเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท แม้จะยอมตกลงค้ำประกันการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนจนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง แต่ก็หาใช่รับผิดชำระหนี้แทนบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด โดยไม่จำกัดจำนวนไม่ คงรับผิดชำระหนี้เป็นเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น และการค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ยอดหนี้ของบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วยการนำเงินเข้าหรือถอนเงินออกจากบัญชี ช่วงเวลาใดที่บริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัดเป็นหนี้ครบวงเงินค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่มีการเบิกถอนเงินเต็มวงเงินค้ำประกันเป็นต้นไป แต่ถ้าบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด นำเงินมาชำระหนี้หักทอนบัญชีจนเป็นหนี้ต่ำกว่าวงเงินค้ำประกันผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่บริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด ได้ชำระแล้วคงรับผิดเท่าวงเงินที่เหลือจนกว่าจะได้มีการเบิกถอนจนเต็มวงเงินค้ำประกันใหม่ผู้ค้ำประกันจึงจะรับผิดเต็มตามวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนั้นอีก ฉะนั้น ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันใด จึงต้องพิจารณาในวันที่บริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด เป็นหนี้เจ้าหนี้เต็มวงเงินครั้งสุดท้าย ตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.๑๕ปรากฏว่า ครั้งสุดท้ายที่บริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัดเป็นหนี้เจ้าหนี้เต็มวงเงินตามสัญญาค้ำประกันคือวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๖ ลูกหนี้ที่ ๔จึงต้องชำระดอกเบี้ยทบต้นให้แก่เจ้าหนี้นับแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๖ จนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๓ อันเป็นวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง หลังจากนั้นชำระดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ ๑๓ ต่อปี ตามสำเนาหนังสือต่ออายุสัญญาเอกสารหมายจ.๑๔/๑ แต่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นจากลูกหนี้ที่ ๔ เกินกว่า ๕ ปี เพราะอายุความในการเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนด ๕ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๓ (๑) เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยค้างชำระเพียง ๕ ปีนับแต่วันยื่นคำขอรับชำระหนี้ย้อนหลังไปเท่านั้น แต่จากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถึงวันยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยค้างชำระในส่วนนี้เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐๐ แม้อายุความในเรื่องดอกเบี้ยจะไม่มีประเด็นโต้เถียงกันในชั้นฎีกา แต่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยให้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะหนี้อันดับ ๓ อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๔ เป็นเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ ๑๓ ต่อปี นับแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๖ จนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๓อันเป็นวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงหลังจากนั้นชำระดอกเบี้ยไม่ทบต้น อัตราเดียวกันของต้นเงินที่คำนวณได้ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๓ นับแต่วันยื่นคำขอรับชำระหนี้ย้อนหลังไป ๕ ปี โดยให้หักดอกเบี้ยที่คำนวณได้จากวันพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ ๔เด็ดขาดถึงวันยื่นคำขอรับชำระหนี้ออกเสียก่อนจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๔ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐ (๘) โดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทพระนครก่อสร้าง จำกัด ลูกหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.๘๘/๒๕๓๓ ของศาลชั้นต้น จากกองทรัพย์สินของนายสมยศ วนาสวัสดิ์และนายธนสิทธิ์ วนาสวัสดิ์ ลูกหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.๑๓๕/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้น และจากนายสมศักดิ์ วนาสวัสดิ์ ผู้ค้ำประกัน แล้วเพียงใด ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในหนี้อันดับ ๓ ลดลงเพียงนั้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share