แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 20 และ จ. ตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 20 ได้ตกลงซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 272 โฉนดเนื้อที่ 49 ไร่ ให้แก่โจทก์ในราคา 90 ล้านบาท โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางส่วนและเข้าครอบครองเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 20 สมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่ 21 แสดงเจตนาลวงบุคคลภายนอกทำนิติกรรมซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 21 จึงเห็นได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ หากจำเลยที่ 21 โอนที่ดินพิพาททั้งหมดให้แก่บุคคลอื่นในระหว่างพิจารณาย่อมจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะแม้โจทก์ชนะคดีก็ไม่อาจโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ได้ กรณีนับว่ามีเหตุจำเป็นและสมควรเพียงพอที่โจทก์จะขอให้ศาลมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) ประกอบมาตรา 255(2) ห้ามมิให้จำเลยที่ 21 โอนที่ดินพิพาทแก่บุคคลอื่นจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงได้ แต่เมื่อได้ความว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวตั้งอยู่ในย่านที่เจริญสิ่งปลูกสร้างในที่ดินเป็นบ้านจัดสรร มีตลาดพาณิชย์ มูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในขณะฟ้องมีราคาเกินกว่า 500 ล้านบาท การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายเพียง 1 แสนบาทจึงไม่เหมาะสม เพราะจำเลยที่ 21 ก็ต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท และฟ้องโจทก์เป็นเท็จ ซึ่งหากทางพิจารณาได้ความในภายหลังว่าโจทก์นำคดีมาสู่ศาลโดยไม่มีมูลแล้ว เงินจำนวนดังกล่าวย่อมไม่อาจชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้ จึงเห็นสมควรให้โจทก์วางเงินประกันจำนวน 20 ล้านบาท
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาให้นิติกรรมการซื้อขายและจดทะเบียนสิทธิที่ดินทั้ง 272 โฉนด ระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 20 กับจำเลยที่ 21 เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันแสดงเจตนาลวงให้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลใด ๆ ห้ามมิให้จำเลยทั้งหมดหรือบุคคลอื่นเข้าเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครอง จัดการและทำประโยชน์ของโจทก์ในที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งหมดจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง272 โฉนดตามฟ้องให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยปลอดจำนองและปราศจากภาระติดพัน พร้อมกับให้รับเงินค่าที่ดินที่ค้าง 40,000,000 บาทจากโจทก์ ค่าภาษีและค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการโอนให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันเป็นผู้เสีย หากจำเลยทั้งหมดไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 15 และจำเลยที่ 17 ถึงที่ 21 ยื่นคำให้การต่อสู้คดี นางจินตนา ไชยกูล ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม บริษัทปัฐวิกรณ์ จำกัด ร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 16 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 21 โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวแก่บุคคลอื่นจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น คำขอนอกจากนี้ให้ยก ให้โจทก์วางเงินประกัน100,000 บาท ก่อนออกหมาย
จำเลยที่ 21 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 21 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาชั้นฎีกาว่า คดีมีเหตุจำเป็นและสมควรเพียงพอที่จะมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 21 โอนที่ดินพิพาทแก่บุคคลอื่นในระหว่างพิจารณาหรือไม่เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 20 และนางจินตนา ไชยกูล ตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 20 ได้ตกลงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 272 โฉนดเนื้อที่ 49 ไร่ที่ดินตั้งอยู่ที่แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ในราคา 90,000,000บาท โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางส่วนแล้ว ได้เข้ารอบครองเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 20 โดยการสมรู้ร่วมกับจำเลยที่ 21 ได้แสดงเจตนาลวงบุคคลภายนอก ทำนิติกรรมซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 272 โฉนด ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 21 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบันมีมูลค่าเกินกว่า 500,000,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้นิติกรรมการซื้อขายและจดทะเบียนสิทธิที่ดินทั้ง 272 โฉนดระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 20 กับจำเลยที่ 21 ตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งหมดจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินคงเหลือจากโจทก์ หากจำเลยทั้งหมดไม่สามารถปฏิบัติได้ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 500,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ตามคำฟ้องของโจทก์หากจำเลยที่ 21 โอนที่ดินพิพาททั้ง 272 โฉนดให้แก่บุคคลอื่นในระหว่างพิจารณาย่อมจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะแม้โจทก์ชนะคดีก็ไม่อาจโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ได้ กรณีดังกล่าวนับว่ามีเหตุจำเป็นและสมควรเพียงพอที่โจทก์จะขอให้ศาลมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) ประกอบมาตรา 255(2) ห้ามมิให้จำเลยที่ 21 โอนที่ดินพิพาทแก่บุคคลอื่นจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงได้ แต่สำหรับเงินประกันค่าเสียหายที่อาจมีขึ้นเนื่องจากการที่ศาลมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์นั้นได้ความตามคำฟ้องว่าที่ดินพิพาทมีจำนวน 272 โฉนด เนื้อที่ 49 ไร่ ตั้งอยู่ที่แขวงคลองกุ่มเขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นย่านที่เจริญ สิ่งปลูกสร้างในที่ดินเป็นบ้านจัดสรรมีตลาดพาณิชย์ มูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในขณะฟ้องมีราคาเกินกว่า 500,000,000 บาท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์วางเงินประกันเพียง100,000 บาท จึงไม่เหมาะสม เพราะจำเลยที่ 21 ก็ต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท ฟ้องโจทก์เป็นความเท็จ ขอให้ยกฟ้องหากทางพิจารณาได้ความในภายหลังว่าโจทก์นำคดีมาสู่ศาลโดยไม่มีมูลแล้ว เงินจำนวนดังกล่าวย่อมไม่อาจชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้จึงเห็นสมควรให้โจทก์วางเงินประกันจำนวน 20,000,000 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์วางเงินประกันเพิ่มให้ครบจำนวน 20,000,000บาท ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด มิฉะนั้นให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเสียนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์