แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีอาญาพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ที่ 1 ว่าบุกรุกที่ดินของจำเลย ผู้เสียหายในคดีคือจำเลย โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความหรือผู้เสียหายในคดีอาญา การพิพากษาข้อพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยในคดีส่วนแพ่งจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนอาญาหมายถึงคำพิพากษาของศาลสูงที่ถึงที่สุดแล้ว เมื่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ถึงที่สุดมิได้วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1ในการที่จะนำมารับฟังในคดีส่วนแพ่ง
ย่อยาว
เดิมโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ร้อง ส่วนจำเลยเป็นผู้คัดค้าน แต่ศาลชั้นต้นได้กำหนดให้เรียกผู้ร้องทั้งสองว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2และเรียกผู้คัดค้านว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า โจทก์ทั้งสองร่วมกันครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1305 เฉพาะส่วนด้านทิศตะวันออกเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี โจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวโดยการครอบครอง ขอให้มีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1305 เฉพาะส่วนเนื้อประมาณ 13 ไร่ โดยการครอบครอง
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยและนายผิว ศิริมาก ร่วมกันหักร้างถางพงในที่ดินว่างเปล่าเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ ต่อมาจำเลยและนายผิวได้ดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยและนายผิวตามโฉนดเลขที่ 1305เนื้อที่ 79 ไร่ 1 งาน 54 ตารางวา โจทก์ทั้งสองกับพวกบุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าว จำเลยได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสอง ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทมานาน 30 ปีด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่เป็นความจริง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในคดีอาญานั้นพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ที่ 1 ว่าบุกรุกที่ดินของจำเลย ผู้เสียหายในคดีคือจำเลยโจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความหรือผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าวดังนั้น การพิพากษาข้อพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยในคดีนี้จึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5589/2534 คดีระหว่างนางเฮียงตึ้งแซ่จู โจทก์ นายยุทธนา ศรีสุขมั่งมี จำเลย และวินิจฉัยว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้น คำพิพากษาคดีส่วนอาญาหมายถึงคำพิพากษาของศาลสูงที่ถึงที่สุดแล้ว หาได้หมายถึงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยังไม่ถึงที่สุดไม่ ปรากฏว่าคดีอาญานั้นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ถึงที่สุดแล้ววินิจฉัยไว้เพียงว่า”ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยทำกินในที่ดินพิพาทโดยเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิที่จะทำกินในที่ดินพิพาทพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมยังไม่พอฟังว่า จำเลยมีเจตนาที่จะบุกรุกที่ดิน” หาได้วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 1ไม่ จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 ในการที่จะนำมารับฟังในคดีนี้
พิพากษายืน