แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายทั้งสามไม่ได้ฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่การพิพากษาในคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ศาลฎีกาจึงต้องมีคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งด้วย และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี โดยวินิจฉัยว่าการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนในคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลย และให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ มีกำหนด 2 ปี นั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจกระทำได้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื่องจากจำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษา เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย โดยที่โจทก์มิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งสามยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำของจำเลย แก่ผู้ร้องทั้งสามคนละ 10,000 บาท
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 5 ปี จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลจังหวัดทุ่งสงให้ลงโทษจำคุกและพ้นโทษจำคุกมาแล้ว การใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนในคดีนี้จึงไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลย ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ มีกำหนด 2 ปี กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสามเป็นเงินคนละ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้อง และยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันนายโกสิทธิ์ ผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ที่แขนซ้ายลึกถึงกล้ามเนื้อ กระดูกแขนด้านนิ้วก้อยหัก นายเอนกพงศ์ ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบที่ศีรษะยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลก มีแผลฉีกขาดที่ข้อนิ้วกลางมือซ้าย นายวรวุฒิ ผู้เสียหายที่ 3 มีบาดแผลฉีกขาด ขนาด 8 เซนติเมตร และขนาด 15 เซนติเมตร ที่บริเวณหลัง แผลฉีกขาดลึกถึงกล้ามเนื้อ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตัวจำเลยเองเบิกความยอมรับว่า รู้จักกับนายโชคดีมาก่อน ขณะเกิดเหตุวัยรุ่น 2 กลุ่ม ทะเลาะวิวาทกับฝ่ายผู้เสียหายประมาณ 10 คน ฝ่ายจำเลยก็ประมาณ 10 คน ผู้เสียหายทั้งสามไม่รู้จักจำเลยมาก่อน แต่นายโชคดีกับจำเลยรู้จักกันมาก่อน จึงเป็นไปได้ว่าในคำให้การผู้เสียหายครั้งแรก ผู้เสียหายทั้งสามไม่ได้กล่าวถึงจำเลย อย่างไรก็ดีนายโชคดีซึ่งรู้จักจำเลยระบุชื่อจำเลยว่าร่วมอยู่ด้วยในกลุ่มคนร้ายตั้งแต่ให้การครั้งแรก ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ดูภาพถ่ายจำเลยจึงให้การเพิ่มเติมว่าจำเลยร่วมอยู่ในกลุ่มคนร้าย มีเพียงผู้เสียหายที่ 2 ที่ให้การว่ารับฟังมาจากนายโชคดี ในชั้นพิจารณาผู้เสียหายทั้งสามและนายโชคดีเบิกความยืนยันว่าจำเลยร่วมเป็นคนร้าย น่าเชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสามและนายโชคดีเบิกความไปตามสัตย์จริง คำให้การชั้นสอบสวนครั้งแรกของนายโชคดีที่ไม่สังเกตว่าจำเลยถืออาวุธมีดหรือไม่ และของผู้เสียหายที่ 2 ครั้งเพิ่มเติมที่ว่ารับฟังจากนายโชคดีเป็นเพียงพลความ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบหนักแน่นรับฟังได้ว่าจำเลยร่วมเป็นคนร้ายคดีนี้ จำเลยนำสืบว่าอยู่ในเหตุการณ์ นายพลวัฒน์เป็นเพื่อนของจำเลย พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อน่าสงสัยตามสมควรว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดหรือไม่ ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ผู้เสียหายทั้งสามไม่ได้ฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่การพิพากษาในคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ศาลฎีกาจึงต้องมีคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งด้วย และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี โดยวินิจฉัยว่าการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนในคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลย และให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ มีกำหนด 2 ปี นั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจกระทำได้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื่องจากจำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษา เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย โดยที่โจทก์มิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น